รร.เซ็นทาราเซ็นทรัลเวิลด์ 29 ส.ค. – อีอีซีจับมือสนามบินเจิ้งโจว ZAEZ มหานครการบินเอเชียตอนเหนือ หนุนสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางอาเซียน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) เพื่อนำความร่วมมือหลายด้านสร้างประโยชน์ร่วมกันมหาศาล ทั้งการส่งออกสินค้าจากไทยผ่านไปจีนต่อไปยังยุโรป เมื่อสนามบินเจิ้งโจวเป็นมหานครการบินของเอเชียนตอนเหนือ ไทยตั้งเป้าหมายให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นมหานครการบินอาเซียน เพราะมีเป้าหมายพัฒนาเมืองการบิน 400 ตารางกิโลเมตรใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก เท่ากับพื้นที่ของ ZAEZ ซึ่งได้พัฒนาเมืองรอบสนามบินเหมือนกับไทย โดยเดือนตุลาคมนี้เตรียมคณะเดินทางไปเยือนจีน มณฑลกวางตุ้ง เซินเจิ้น ฮองกง เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจตอนล่างของจีนมายังอาเซียนโดยผ่านไทย ทำให้ระบบโลจิสติกส์ครอบคลุมทั้งระบบราง ทางบก ทางเรือ การบิน เชื่อมจากจีนลงสู่อาเซียน แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวการพัฒนาโครงส้รางพื้นฐานขนาดใหญ่ยังเดินหน้าต่อไปได้
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า ความร่วมมือทั้ง 2 องค์กรครั้งนี้ มุ่งแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการพัฒนามหานครการบิน อาทิ การวางผังศูนย์กลางการบินและการเชื่อมโยง กลยุทธ์การคัดเลือกอุตสาหกรรม ความร่วมมือสถาบันการศึกษาด้านการบินการวางผังเมือง การท่องเที่ยวและงานวิจัย เป็นต้น การเชื่อมโยงด้านการบินครบวงจรระหว่างอีอีซีและ ZAEZ ความร่วมมือและการพัฒนาของอีอีซี และ ZAEZ เพื่อร่วมพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ 6,500 ไร่ของสนามบินอู่ตะเภา และบวกกับรัศมี 30 กิโลเมตรรอบสนามบิน (พัทยา-ระยอง) หรือมีขนาด 400 ตารางกิโลเมตร เมื่อสร้างให้เป็นมหานครการบินภาคตะวันออก (Eastern Aerotropolis) จึงต้องนำประสบการณ์จากเจิ้งโจวที่เป็นมหานครการบินในภาคกลางของจีน ขนาด 415 ตารางกิโลเมตร และเป็นมหานครการบินใหม่ของจีนเช่นเดียวกัน เมื่อนำมาเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองการบินในเขตพื้นที่อีอีซีของไทย คาดว่าเริ่มทำได้ 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ คาดว่าผลประโยชน์เกิดจากการร่วมพัฒนาสนามบินอู่ตะเภารองรับการขนส่งสินค้า จาก ZAEZ ซึ่งเป็นศูนย์กลางนำเข้าสินค้าทางอากาศของจีน รองรับสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้ อาหารทะเล สัตว์ปีก สัตว์มีชีวิต อาหารสำเร็จรูป ยา อุปกรณ์การแพทย์ ทำให้ผลไม้จากพื้นที่อีอีซีจะถูกส่งไปยังจีนผ่านระบบ E–Commerce สำหรับความร่วมมือการลงทุนในอุตสาหกรรมร่วมกันเขต ZAEZ มีบริษัทด้าน IT และ Smart phone กว่า 60 ราย มีบริษัทเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศ 36 บริษัท บริษัทธุรกิจด้าน E- Commerce 431 บริษัท บริษัทซ่อมเครื่องบิน 5 บริษัท จึงเตรียมดึงเอกชนกลุ่มดังกล่าวเข้ามาขยายการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ของไทย รวมถึงความร่วมมือการพัฒนาบุคลากร
นายคณิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อศาลได้ตัดสินการยื่นประมูลสร้างสนามบินอู่ตะเภาแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอขั้นตอนการอุทธรณ์ จากนี้ไปขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนพัฒนาสนามบินจะเริ่มเดินหน้าต่อไปได้ คาดว่าเดือนกันยายนจะสรุปผลการคัดเลือก ทำให้การพัฒนาคาร์โก้เดินหน้าไปด้วย โดยไม่ต้องรอสนามบินก่อสร้างเสร็จในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพราะระบบขนส่งสินค้าคาร์โก้เดินหน้าพัฒนาไปได้เลย และคาดว่าในช่วง 6 เดือนข้างหน้าความร่วมมือเพื่อพัฒนาจะเริ่มเชื่อมโยงกันมากขึ้น ยอมรับว่าการพัฒนาเขต ZAEZ ของจีน ใช้เวลาเพียง 2 ปี ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนเต็มพื้นที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงต้องใช้ประสบการณ์ดังกล่าวมาใช้กับเขตอีอีซีพัฒนามหานครการบินไม่ใช่เป็นเพียงการพัฒนาสนามบิน
นายหม่า เจี้ยน ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) กล่าวว่า พร้อมร่วมมือกับไทยพัฒนาอีอีซี โดยเฉพาะมหานครการบินภาคตะวันออก หลังจากเปิดให้บริการสนามบินมาได้ 3 ปี มีผู้โดยสารเดินทาง 25 ล้านคน และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น เมื่อเชื่อมโยงกับไทยจะช่วยกระจายสินค้าไปยังจีนทั่วประเทศ จึงพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่.-สำนักข่าวไทย