กรุงเทพฯ 21 มิ.ย.-บสย.เปิดตัวโครงการ “หมอหนี้ บสย.” ครั้งแรกในต่างจังหวัด ประเดิมจังหวัดแรกที่พิษณุโลก โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 400 ราย
หลังจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เปิดตัว “หมอหนี้ บสย.” เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ล่าสุดได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งเป็นครั้งแรกในต่างจังหวัดที่จังหวัดพิษณุโลก ภายใต้ชื่องาน “โครงการมหกรรมคลินิกหมอหนี้ บสย.”
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. บรรยายพิเศษ เรื่อง “ปลดล็อก SMEs ไทย” โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมามีเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพียง 7 แสนกว่าราย ส่วนเอสเอ็มอีที่เหลืออีกกว่า 4 ล้านรายยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน บสย.จึงจัดงาน “หมอหนี้ บสย.” ขึ้นมา เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอสเอ็มอีกับสถาบันการเงิน ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน 11 จังหวัด มีเอสเอ็มอีกว่า 2 แสนราย เม็ดเงินในการทำธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งบสย.พร้อมช่วยเติมทุน เติมความรู้ และเติมคุณภาพชีวิต ให้กับเอสเอ็มอีในพื้นที่นี้
ผู้จัดการทั่วไปบสย.ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 5.2 ล้านราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในสำมะโนธุรกิจ จำนวน 2.5 ล้านราย (ประมาณ 48%) ในจำนวนนี้ มีบสย.ค้ำประกันสินเชื่อประมาณ 14% และยังมีอีก 86% ที่บสย. สามารถเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อ 2.ผู้ประกอบการที่อยู่นอกสำมะโนธุรกิจ จำนวน 2.7 ล้านราย หรือราว 52% ประกอบด้วย ผู้ค้าแผงค้า 1.28 ล้านราย กลุ่มหาบเร่แผงลอย 5.6 แสนราย และกลุ่มออนไลน์ 4.1 แสนราย ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเป็นโอกาสของ บสย.ในการช่วยเหลือ โดยใช้โครงการคลินิกหมอหนี้ บสย. เป็นกลไกสำคัญ ที่ช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น ภายใต้แนวคิดลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยคนตัวเล็กเข้าถึงสินเชื่อ.-สำนักข่าวไทย