กทม. 29 พ.ค. – นักกฎหมายมองว่า กฎหมายใหม่ที่แก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานข่มขืน อนาจาร ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เป็นการช่วยปกป้องผู้หญิง และกลุ่มคนที่ไม่สามารถปกป้องตนเองได้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มโทษใหม่ เช่น การทำอนาจารมีโทษเท่าการข่มขืนกระทำชำเรา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า ในกฎหมายฉบับแก้ไขใหม่นี้ กำหนดนิยามคำว่า “ข่มขืนกระทำชำเรา” หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากผู้อื่น เท่ากับว่าผู้กระทำที่กระทำล่วงล้ำโดยใช้อวัยวะเพศได้นั้น สื่อความหมายโดยตรงถึงเพศชาย ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิมที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงคำว่าล่วงล้ำ จึงอาจตีความว่าผู้หญิงฝ่ายกระทำ
กฎหมายแก้ไขใหม่นี้จึงช่วยปกป้องผู้หญิงมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การใช้วัตถุอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศของผู้อื่น ไม่เป็นการข่มขืนกระทำชำเรา แต่จะถือเป็นการกระทำอนาจาร ที่มีโทษหนักเทียบเท่าการข่มขืนกระทำชำเรา โทษจะหนักขึ้นหากมีการใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด สูงสุดจำคุกถึงตลอดชีวิต และที่น่าสนใจในตัวกฎหมายนี้อีกเรื่องคือ การเพิ่มถ้อยคำในกฎหมายว่า หากกระทำโดยทำให้ถูกเข้าใจว่ามีอาวุธ หรือการใช้อาวุธปลอมก็จะต้องโทษหนักเช่นกัน
กฎหมายฉบับแก้ไขใหม่นี้ยังได้เพิ่มเติมข้อกฏหมายที่ทันสมัยและครอบคลุมการกระทำผิดมากขึ้น สอดคล้องกับความผิดการค้าประเวณีที่สามารถเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์จากการค้าประเวณี โทษสูงสุดถึงประหารชีวิต และในการข่มขืนกระทำชำเรา หากผู้กระทำได้บันทึกภาพหรือเสียงไว้ กำหนดให้เพิ่มโทษอีก 1 ใน 3 และหากมีการเผยแพร่ส่งต่อคลิปก็จะต้องเพิ่มโทษหนักขึ้นถึงกึ่งหนึ่ง
ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จากรายงานสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงทางเพศ ปี 2560 รวบรวมจากสถิติข่าวการข่มขืน พบว่ามี 317 ข่าว มากที่สุดคือ ผู้หญิงถูกข่มขืนจากคนใกล้ชิดหรือคนคุ้นเคย ซึ่งเกิดขึ้นภายในที่พักหรือบ้านของผู้ถูกกระทำ ปัจจัยหลักของการกระทำคือมีแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นให้ก่อเหตุขึ้น แต่ละปีมีเคสเข้ามาให้มูลนิธิช่วยเหลือทางคดีมากกว่า 10 ราย
ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องดีที่กฎหมายฉบับใหม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น จากเคสที่เข้ามาให้มูลนิธิช่วยเหลือ ผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเรามีหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งไม่ได้ถูกกระทำชำเราจากกอวัยวะเพศ มีการใช้อวัยวะอื่นๆ กระทำ มองว่าข้อสำคัญคือส่วนมากผู้ถูกกระทำไม่ได้เข้าถึงกระบวนการกฎหมาย และที่ผ่านมากระบวนการทางด้านคดีมักจบที่การไกล่เกลี่ย
ขณะที่นักสงเคราห์และนักวิชาการด้านกฎหมายให้ความเห็นตรงกันว่า แม้ตัวกฎหมายจะมีโทษสูง หวังให้ผู้กระทำมีความเกรงกลัวไม่ก่อเหตุ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและต้องมีกระบวนการช่วยเหลือเหยื่อผู้ถูกกระทำอย่างรวดเร็วในทางคดี และการเข้าถึงกระบวนการทางยุติธรรม เพราะผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่จะไม่กล้ามาแจ้งความเอาผิด รวมถึงทัศนคติของพนักงานสอบสวน. – สำนักข่าวไทย