กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลการนำเข้าและส่งออกวัตถุอันตรายที่เป็นสารเคมีปี 2558 มีการนำเข้ากว่า 3 ล้านตัน และส่งออกกว่า 2 ล้านตัน โครงการจัดทำระบบบริหารจัดการความปลอดภัยสู่โรงงาน จึงเป็นการยกระดับการบริหารจัดการความปลอดภัยของโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และช่วยส่งเสริมให้โรงงานที่มีการใช้สารเคมีอันตรายมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการความปลอดภัยที่ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล สามารถนำระบบบริหารจัดการความปลอดภัยดังกล่าวไปพัฒนางานด้านความปลอดภัยในโรงงานให้เหมาะสมกับอันตรายที่มีอยู่ในโรงงาน ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรมผลักดันให้โรงงานขนาดใหญ่ที่มีการใช้สารเคมีอันตรายเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นโรงงานนำร่องพัฒนาระบบบริหารจัดการความปลอดภัยป้องกันอุบัติภัยร้ายแรงใน 6 โรงงาน ได้แก่ 1.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 12 2.บริษัท มาบตาพุด แท้งค์ เทอร์มินอล จำกัด 3.บริษัท ยางไทยสังเคราะห์ จำกัด 4.บริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟนิ่ง จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท สีไทยกันไซเพ้นท์ จำกัด และ 6.บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) โดยโรงงานทั้ง 6 แห่งนี้จะเป็นโรงงานต้นแบบและเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยยกระดับการบริหารจัดการความปลอดภัยของโรงงานและร่วมพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมามีการเปิดรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการโรงงานที่มีความสนใจเข้าร่วมเป็นโรงงานนำร่อง ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การอบรมการบริหารจัดการความปลอดภัยและการจัดทำรายงานการบริหารจัดการความปลอดภัยเพื่อป้องกันอุบัติภัยร้ายแรงในโรงงาน โดยเจ้าหน้าที่จาก Health and Safety Laboratory ของประเทศอังกฤษ การสำรวจข้อมูลอุบัติภัยร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้น การให้คำปรึกษาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้จัดทำคู่มือการจัดทำระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติภัยร้ายแรง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการโรงงานที่มีการใช้สารอันตรายได้ศึกษาระบบบริหารจัดการความปลอดภัย มาตรการป้องกันและควบคุมอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการประกอบกิจการ.-สำนักข่าวไทย