กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – สรท.ยันส่งออกไทยทั้งปีโตได้แค่ร้อยละ 3 หวังได้รัฐบาลใหม่ไม่มีความวุ่นวาย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นสายตาต่างชาติ
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากตัวเลขการส่งออกเดือนมีนาคม 2562 ไทยกลับมาติดลบอีกครั้งร้อยละ 4.9 โดยมีมูลค่า 21,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกไตรมาสแรกปีนี้โดยรวมติดลบร้อยละ 1.6 หรือมีมูลค่า 61,987.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น เกิดจากความวิตกกังวลปัญหาสงครามการค้าสหรัฐและจีน แม้ว่าจะมีการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศที่ดูว่าจะมีทางออก แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะสรุปแนวทางร่วมกันอย่างไร จึงเป็นสาเหตุหลักของการวิตกกังวลส่งผลให้การส่งออกทั่วโลกยังไม่ดีมากนัก และยังเชื่อว่าไตรมาส 2 คงจะยังไม่ติดลบมากนอกจากนี้ ประกอบกับทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวน รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันเริ่มกลับมามีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก ทำให้เป็นตัวกดดันภาคการส่งออกเดือนมีนาคมและไตรมาสแรก
อย่างไรก็ตาม สรท.ประเมินภาพรวมการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 3 หรือเฉลี่ยต่อเดือน 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้มาก แต่หากจะให้โตถึงร้อยละ 5 จะต้องผลักดันส่งออกในช่วง 9 เดือนที่เหลือต่อเดือนไม่ต่ำ 22,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือว่าลำบากพอสมควร ดังนั้น ตัวเลขการส่งออกที่ประเมินไว้ว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 3 บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.2 เป็นต้น
ทั้ง สรท.มีข้อเสนอแนะสำคัญต่อรัฐบาลใหม่ ประกอบด้วย 1.ภาครัฐควรสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของภูมิภาค ซึ่งปัจจัยของการปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบการค้าให้เหมาะสม ลดขั้นตอนทางกฎหมายที่มีความซ้ำซ้อนออก (Regulatory Guillotine) รวมถึงขั้นตอนการขออนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตแล้วส่งออก เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการให้สามารถส่งออกและส่งเสริมให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) เป็นฐานการผลิตของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง 2.ความแปรปรวนจากภูมิอากาศที่ร้อนจัดก่อให้เกิดภัยแล้งในปัจจุบัน ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกษตรกรจัดการพื้นที่ปลูกพืชตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ (Agriculture Zoning) รวมถึงการทำเกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งเกษตรกรและผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากจะทำให้ได้สินค้ามีคุณภาพดีและการจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้ และ 3.ภาครัฐควรเร่งจัดกิจกรรม Roadshow เพื่อพานักธุรกิจไทยไปเปิดตลาดและเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเห็นมากสุด คือ สงครามการค้าสหรัฐและจีนยุติลง รวมถึงหน้าตารัฐบาลใหม่ออกมาอย่างไม่มีปัญหาความวุ่นวายตามมาและการเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่จะมีความชัดเจนวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ หากปรับเพิ่มมากเกินไปก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) อย่างแน่นอน.-สำนักข่าวไทย