กทม.2 เม.ย.-องค์กรสตรี จี้ กทม.จริงจังปัญหาลวนลาม คุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ชงผุดหน่วยรับแจ้งระงับเหตุ เข้มโซนนิ่งปลอดเหล้า-จำกัดเวลา วอนผู้เสียหายอย่าเฉยส่งผลผู้ก่อเหตุย่ามใจทำซ้ำ
วันนี้(2เม.ย.)เวลา13.30 น.ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เครือข่ายชุมชน กทม.หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ต่อนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. ผ่านทางนางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกทม.เพื่อเรียกร้องให้ กทม. คุมเข้มปัญหาลวนลามคุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ และปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
น.ส.อังคณา กล่าวว่า ด้วยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลและเครือข่ายฯมีภารกิจร่วมกันในการรณรงค์สร้างความตระหนัก แก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดการฉวยโอกาสในการคุกคามทางเพศ ลดปัญหาอุบัติเหตุ และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในมิติต่าง ๆ ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นต่อเทศกาลสงกรานต์ปี2560ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้หญิง 1,650 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่ากลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ59.3เคยถูกฉวยโอกาส ถูกลวนลามคุกคามทางเพศ โดยรูปแบบพฤติกรรมการถูกลวนลามคือถูกจับแก้มร้อยละ 33.8 เบียดเสียด/จับมือ/จับแขนและใช้สายตาจ้องมองแทะโลม ร้อยละ18.0 ถูกสัมผัสร่างกาย/ล้วงอวัยวะอื่นๆ ร้อยละ 9.6
ส่วนเหตุการณ์ที่เคยเจอทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยช่วงสงกรานต์คือถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา/บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 22.8 รองลงมาปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาอุบัติเหตุ
น.ส.อังคณา กล่าวว่า สงกรานต์เสื่อมเพราะมีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นกรุงเทพมหานคร ควรเร่งรณรงค์สร้างกระแสให้การเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบ ให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ ที่สำคัญควรปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเครือข่ายฯมีข้อเสนอ เพื่อให้กรุงเทพมหานคร นำไปพิจารณา ดังนี้
1.รณรงค์และประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ในกรุงเทพฯ รับรู้ถึงการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และยังคงกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2.ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงมหาดไทย และภาคประชาสังคม ในการร่วมกันเป็นเครือขายเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาการคุกคามทางเพศ โดยกำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำ อาทิ ถนนข้าวสาร เซ็นทรัลเวิลด์ มีเจ้าหน้าที่เทศกิจเป็นกลไกทำงานร่วมกัน
3.ขอเจ้าหน้าที่เทศกิจ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กทม. มีบทบาทในการเฝ้าระวัง กำกับและติดตามการทำผิดกฎหมายฉบับนี้ อาทิ การไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงคนเมาครองสติไม่ได้ การขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ส่งเสริมการขายลดแลกแจกแถม เป็นต้น
และ 4.มีแผนงานรณรงค์สร้างความเข้าใจ ในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ การเคารพให้เกียรติในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น การไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ เพื่อทำงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมูลนิธิและภาคีเครือข่ายยินดีให้ความร่วมมือ สนับสนุนอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามช่วง 2-3ปีที่ผ่านมาถือว่า กทม.สามารถควบคุมพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ในจุดสำคัญๆ ให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ดี แต่ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ ถูกลวนลามยังขาดความชัดเจนในเรื่องการรับแจ้ง ระงับเหตุให้ความช่วยเหลือที่สำคัญตัวผู้เสียหายเองก็ต้องกล้าที่จะปกป้องสิทธิของตัวเองกล้าร้องขอความช่วยเหลือ มิเช่นนั้นแล้วผู้ก่อเหตุจะยิ่งย่ามใจ มีโอกาสไปก่อเหตุซ้ำกับคนอื่นได้อีก คนที่อยู่รอบข้างก็ควรช่วยเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแล
ทั้งนี้ มั่นใจว่าหากทำให้พื้นที่เล่นน้ำปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จริง ก็จะช่วยตัดปัจจัยร่วมในการก่อเหตุที่ไม่เหมาะสมลงไปได้มาก.-สำนักข่าวไทย