กทม.21 มี.ค.-กรมประชาฯร่วมยูเนสโก ประจำประเทศไทยจัดประชุมส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อระดับภูมิภาค หวังสร้างเครือข่ายสื่อรับมือข่าวลวง ผอ.ยูเนสโกย้ำ หากสื่อไม่แน่ใจไม่ควรนำเสนอข่าว ด้านผู้ผลิตรายการชัวร์ก่อนเเชร์ฝากประชาชนให้รู้เท่าทัน ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนลดการชักจูง ขณะที่เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าทำให้ปลอมสื่อได้สมจริงมากขึ้น
กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ สำนักงานยูเนสโก ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อระดับภูมิภาค “Maintaining Credibility and Trust in Journalism : A Collaborative Workshop for Addressing Fake News in ASEAN” ระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม 2562 เพื่อเเลกเปลี่ยนข้อมูล มาตรการ ประสบการณ์การรับมือกับข่าวลวง เเนวปฏิบัติการรณรงค์ การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์เเละเพิ่มพูนความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยเเละต่างชาติ รวมถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อเป็นพลังในการลดผลกระทบจากข่าวลวงเเละเป็นกลไกสำคัญของภูมิภาคในการสร้างความรู้ให้กับประชาชน โดยมีสื่อมวลชนไทยเเละต่างชาติเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก รวมถึงนายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้ผลิตเเละพิธีกรรายการชัวร์ก่อนเเชร์จากสำนักข่าวไทย อสมท เข้าร่วมงานเเละร่วมเสวนาในหัวข้อมุมมองของผู้ทำข่าว
นายจรูญ ไชยศร รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการประชุมในครั้งนี้เมื่อพูดถึงข่าวปลอมถือเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับอาเซียนเเละระดับโลก กรมประชาสัมพันธ์ตระหนักถึงการสื่อสารในข่าวในยุคดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข่าวสารได้ง่ายข่าวลวงจึงเกิดขึ้นได้ง่ายเช่นกันในหลายรูปแบบ หรือเกิดขึ้นได้ทุกเวลา เพียงเเค่ทุกคนเปิดโทรศัพท์ จึงต้องมีการเเก้ไขปัญหาข่าวลวงอย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องเป็นวาระสำคัญที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอาเซียนได้เน้นย้ำให้ทุกประเทศร่วมกันสร้างเครือข่ายเเก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งมั่นลดผลกระทบข่าวลวงหรือข้อมูลที่บิดเบือน
ด้านนายชิเงรุ เอโอยางิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า บทบาทของสื่อมวลชนมีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบันเพราะปัญหาความท้าทายในเรื่องการนำเสนอข้อมูลต่างๆ นอกจากต้องกลั่นกรองเรื่องข้อมูลที่ผิดๆเเล้ว ยังมีประเด็นเรื่องข่าวลวงที่ต้องให้ตรวจสอบทุกวัน ย้ำว่าข่าวลวง ไม่ใช่ข่าว เเต่มีความตั้งใจผลิตเเละส่งต่อให้เหมือนเป็นข่าว เพื่อผลแระโยชน์ของผู้สร้างข่าวลวง บางส่วนลวงเพื่อประเด็นทางการเมือง เเสวงหากำไรหรือเชิงประชดประชันต่างๆ
อย่างในปีที่ผ่านมา มีการเเชร์ภาพปลอมในอินโดนีเซียกว่า 700 ล้านครั้ง , ร้อยละ 98 ของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในมาเลเซียที่การเเชร์ข่าวปลอมในช่วงเลือกตั้งในประเทศ ดังนั้นกฎเกณฑ์ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หากไม่สามารถประกันว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่จริงก็ควรพิจารณาให้ดีก่อนนำเสนอ เเละการสร้างเครือข่ายก็จะทำให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลกันได้เป็นอย่างดี
ขณะที่นายพีรพล ผู้ผลิตเเละพิธีกรรายการชัวร์ก่อนเเชร์จากสำนักข่าวไทย อสมท กล่าวว่า ปัจจุบันมีการสร้างเเละเเพร่กระจายข่าวอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายเเละเร็ว รวมถึงการเเชร์ต่อได้ทันทีโดยยังไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน ทำให้มีการสร้างข่าวลวงได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งรูปเเบบข่าวลวง บ้างเป็นภาพจริง เนื้อข่าวจริง เเต่มีบางประเด็นที่เท็จ หรือเนื้อข่าวจริงเเต่พาดหัวเท็จหรือในยุคที่เทคโนโลยีมีความล้ำสมัย ก็ยิ่งทำให้สร้างข้อมูลเท็จได้ง่ายขึ้น ดูสมจริงมากขึ้น สร้างวิดีโอคล้ายบุคคลให้พูดอีกประเด็นที่บิดเบือนความจริง ซึ่งส่วนใหญ่ข่าวลวงที่เกิดขึ้นในไทย มักเป็นประเด็นสุขภาพ ความเชื่อหรือการชี้นำทางการเมือง ยิ่งใกล้การเลือกตั้ง ยิ่งมีข่าวลวง เพื่อชักจูงให้เลือกเเต่ละฝ่าย เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้น่าห่วง ประชาชนต้องมีภูมิคุ้มกัน อย่าเชื่อทันที เเยะเเยกเเละพิจารณาให้ดีก่อนเชื่อเเละเเชร์ข้อมูล
ขณะเดียวกันการประชุมในวันนี้ส่งผลดี ทำให้สื่อได้สร้างเครือข่ายรู้เท่าทันข่าวลวง เพราะข่าวลวงบางข่าวมาจากต่างประเทศ การได้ตรวจสอบก่อนก็จะช่วยให้คนไทยไม่หลงเชื่อได้ง่าย เเละเป็นการย้ำว่าหากยังไม่เเน่ใจสื่อก็ไม่ควรนำเสนอ .-สำนักข่าวไทย