อย.4 มี.ค.-วันที่ 4 ของการลงทะเบียนนิรโทษกรรมกัญชาคึกคัก ‘ลุงตู้’-ลีน่า จัง” ก็มา ด้านพรรคภูมิใจไทย โผล่ให้กำลังใจผู้ป่วย
บรรยากาศการเปิดรับ การแจ้งครอบครองกัญชา ภายหลังราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ โดยให้ผู้ที่ครอบครองกัญชา 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มองค์กรการวิจัย แพทย์แผนไทยแพทย์แผนปัจจุบัน ,กลุ่มผู้ป่วย และกลุ่มบุคคลอื่นๆ หากแจ้งภายใน 90 วันไม่ต้องรับโทษนั้น วันนี้ (4มี.ค.) ซึ่งเป็นวันที่ 4 หลังเปิดวันแรกเมื่อวันพุธที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนมาขอลงทะเบียนนิรโทษกรรมจำนวนหลายสิบคน ทั้งหมดมาลงทะเบียนกลุ่มที่ 2 คือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากกัญชา
จากการสังเกตของผู้สื่อข่าว พบว่าหลายคนยังไม่ทราบว่าต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง บางคนแจ้งป่วยแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์ บางคนไม่มีหลักฐานตัวยาที่ต้องใช้มาสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้ต้องกลับไปนำหลักฐานมาแสดงในวันถัดไป
ในช่วงเช้ามีนายบัณฑูร นิยมาภา หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ลุงตู้’ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางแพทย์ เดินทางมาพูดคุย และให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หนึ่งในผู้ที่มายื่นนิรโทษวันนี้มี น.ส.ลีนา จังจรรจา หรือ ‘ลีน่า จัง’ มายื่นขอนิรโทษด้วย โดยระบุว่า ตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ จึงได้ไปศึกษาหาข้อมูลจนพบว่าน้ำมันกัญชาช่วยรักษาโรคได้ จึงไปติดต่อ ‘ลุงตู้’ และนำมาใช้พบว่าทำให้ตนเองหลับได้สบาย และอาการกังวลก็ลดน้อยลงไปด้วย พร้อมระบุว่ามาตรการนี้ของ อย.ดี แต่ยังไม่มีความชัดเจน ประชาชนยังไม่ทราบว่าต้องใช้หลักฐานใดมายื่น ทำให้หลายคนเสียเวลา เสียเงินหลายรอบเพื่อมายื่น อีกอย่างต้องนำตัวยามาสำแดงยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความหวาดวิตก กลัวโดนจับ จึงยังไม่มีใครกล้ามาแจ้ง จึงอยากให้ภาครัฐชี้แจงให้ชัดให้ประชาชนได้ทราบอย่างทั่วถึง และจะได้กล้าออกมาลงทะเบียน
ขณะที่วันนี้นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทยได้เดินทางมาเยี่ยม พร้อมพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วยที่ใช้กัญชาเพื่อการรักษา และมายื่นนิรโทษกัญชา พร้อมกล่าวว่า การออกกฎเกณฑ์ในลักษณะนี้ของ อย. และภาครัฐยิ่งสร้างความตื่นกลัวให้กับผู้ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ จริงๆแล้วการใช้กัญชามารักษาโรค เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับ แต่บ้านเรารัฐกลับยังทำให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ใครมีไว้ครอบครอง ไม่ว่ากรณีใดๆถือว่าผิดกฎหมาย แม้ตอนนี้จะเปิดโอกาสให้นิรโทษภายใน 90 วัน แต่หลังจากนี้ต้องยื่นขออนุญาตในการใช้อย่างถูกต้องอีกครั้ง ยิ่งเป็นการจำกัดและริดรอนสิทธิ ในการเข้าถึงของภาคประชาชน ยิ่ง อย.ออก มาระบุว่า จะใช้เวลา 5 ปีในการดูแลควบคุมโดยคณะกรรมการ ที่ล้วนมาจากภาครัฐ ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลย จึงมองว่ามาตรการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการลดอำนาจของประชาชน แต่เป็นการรวบอำนาจเข้าสู่มือภาครัฐแต่เพียงผู้เดียว และภายใน 5 ปีที่ อย.ควบคุมจะมีใครให้ความมั่นใจว่า หากอำนาจอยู่ในมือภาครัฐจะไม่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือต่างชาติ สิทธิต่างๆ ทั้งการปลูกใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือ การใช้เพื่อการรักษา ประชาชนจะสามารถได้รับจริงหรือไม่ กฎหมายฉบับนี้ต้องมีการแก้ไขถ้ายังเป็นเช่นนี้เท่ากับรัฐรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ.-สำนักข่าวไทย