รพ. จุฬาลงกรณ์ 25 กพ..- ทีมแพทย์จุฬาฯ ย้ำความก้าวหน้า ทางการแพทย์ ทำให้ สามารถพัฒนาวิธีการเก็บ รักษาภาวะการเจริญพันธุ์ ของผู้ป่วยมะเร็งก่อนการรักษา ทำให้ผู้ป่วยสามารถมีลูกได้
ในการเสวนาเชิงวิชาการ“เป็นมะเร็งก็มีลูกได้” ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดขึ้นเพื่อ นำเสนอข้อมูลเป็นทางเลือก สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ ต้องการมีลูกแต่ อาจคิดว่าเมื่อทำการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด ฉายแสงแล้ว จะไปทำลายเซลล์ในระบบสืบพันธุ์ ทำให้ไม่สามารถ มีลูกได้นั้น ว่าในปัจจุบันการเกิดมะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบัน ส่งผลให้การรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพดีขึ้นทำให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสหายจากมะเร็งได้ อย่างไรก็ตามการรักษามะเร็งด้วยวิธีมาตรฐาน เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด มักส่งผลให้ผู้ป่วยทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงสูญเสียความสามารถในการเจริญพันธุ์และการมีบุตรภายหลังจากการรักษามะเร็งหายแล้ว หรือผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นมะเร็งแต่ต้องได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา หรือเคมีบำบัด ได้แก่ โรคทางระบบโลหิตวิทยา เช่น Systemic Lupus Erythematosus (SLE) เป็นต้น โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะรังไข่หยุดทำงานและอาจจะไม่สามารถมีบุตรได้ในอนาคต
ศ.นพ.นเรศร สุขเจริญ หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ฝ่ายสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย และ รศ นพ วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าฝ่ายสูติศาสตร์ นรีเวช วิทยา ร่วมกันเปิดเผยว่า ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้าน โดยเฉพาะศาสตร์ทางด้านเทคโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted Reproductive Technology; ART) ได้มีการพัฒนาวิธีการเก็บรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ (Fertility Preservation) ของผู้ป่วยก่อนการรักษามะเร็ง ตัวอย่างเช่น การกระตุ้นไข่แล้วทำการเก็บแช่แข็งไข่หรือตัวอ่อน รวมถึงเนื้อเยื่อรังไข่ในผู้ป่วยหญิง หรือ การเก็บแข่แข็งเชื้ออสุจิและเนื้อเยื่ออัณฑะในผู้ป่วยชาย หรือในกรณีที่เป็นผู้ป่วยหญิงแสดงอาการมะเร็งทางนรีเวช เช่น มะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น สูตินรีแพทย์สามารถทำการผ่าตัดปากมดลูกโดยให้คงเหลือส่วนของมดลูกไว้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคตได้
โดย มีตัวอย่างความสำเร็จของการรักษาความสามารถในการเจริญพันธุ์ด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น ได้แก่ กรณีศึกษาที่ 1 ในปี พ.ศ. 2558 สูตินรีแพทย์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้คำปรึกษาและทำการรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมก่อนผู้ป่วยได้รับการรักษามะเร็งด้วยวิธีเคมีบำบัด ด้วยวิธีการกระตุ้นไข่และแช่แข็งตัวอ่อนที่ได้จากกระบวนการปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว จากนั้นในปี พ.ศ. 2561 ภายหลังผู้ป่วยได้รับการรักษาจากโรคมะเร็งและหายเป็นปกติ ผู้ป่วยได้รับการย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูก สามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรที่เป็นทารกฝาแฝดซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงได้ กรณีศึกษาที่ 2 เป็นผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น และได้รับการผ่าตัดปากมดลูก ซึ่งต่อมาสามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรได้ จากตัวอย่างความสำเร็จดังกล่าว
จะเห็นได้ว่าในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งและอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์นั้น ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ก่อนทำการรักษามะเร็งด้วยวิธีมาตรฐาน โดยในปัจจุบันทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เริ่มเปิดให้บริการทางการแพทย์ด้านการรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ในผู้ป่วยมะเร็ง หรือ Fertility Preservation Center อย่างเป็นทางการ โดยผู้ป่วยมะเร็งทั้งเพศชายและเพศหญิงที่ต้องการรักษาภาวะการเจริญพันธุ์ สามารถติดต่อเพื่อเข้ารับคำปรึกษาและการบริการทางการแพทย์ได้ที่ หน่วยชีววิทยาการเจริญพันธุ์ ตึกนวมินทราชินี ชั้น 11 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 น. – 15.00 น.วันเสาร์ – วันอาทิตย์และวันหยุดนขัตฤกษ์ เวลา 08.00 น. – 11.00 น.โทร02-256-4826 หรือ 081-722-2181.-สำนักข่าวไทย