โซล 20 ก.พ.- หลายฝ่ายคาดว่า หากการประชุมสุดยอด (ซัมมิต) ครั้งที่สองระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐกับนายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่เวียดนามในสิ้นเดือนนี้มีความคืบหน้าเรื่องการปลดนิวเคลียร์คาบสมุทรเกาหลีและนำไปสู่การมีข้อตกลงสันติภาพสองเกาหลี ระบบเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้อาจมีการเปลี่ยนแปลง
นายคิม ดงยอบ นักวิเคราะห์มหาวิทยาลัยกยองนัมมองว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงเรื่องยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร และถึงแม้เกาหลีใต้จะสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับเกาหลีเหนือก็คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าเกาหลีใต้จะเปลี่ยนไปใช้ระบบการเป็นทหารโดยสมัครใจ เพราะยังมีภัยจากประเทศเพื่อนบ้านและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ อยู่
นายลิม แตฮุน ผู้อำนวยการศูนย์สิทธิมนุษยชนกองทัพเกาหลีชี้ว่า สงครามเกาหลีและผลพวงที่ตามมายังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมในกองทัพเกาหลีใต้ สงครามเกาหลีเริ่มขึ้นในวันอาทิตย์ ทหารเกาหลีเหนือข้ามเส้นแบ่งที่ 38 เข้ามาในวันที่ทหารเกาหลีใต้จำนวนมากไม่ได้ประจำการที่ฐาน จึงเกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก เหตุการณ์นี้กลายเป็นข้อบังคับให้เกาหลีใต้ต้องมีทหารประจำการที่ฐานตลอดเวลาจนถึงทุกวันนี้ ห้ามทหารลาพร้อมกันเกินร้อยละ 25 เป็นเหตุให้ทหารเกณฑ์ต้องอยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน นำมาซึ่งการข่มเหงรังแกกันในกองทัพ คาดว่านับจากหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลีในปี 2496 มีทหารเกณฑ์เกาหลีใต้เสียชีวิตประมาณ 60,000 นาย มาจากหลายสาเหตุทั้งฆ่าตัวตาย ปืนลั่น ไม่ได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเหมาะสม แต่ไม่มีใครตายในสนามรบ
ปัจจุบันกำลังพล 600,000 นายในกองทัพเกาหลีใต้ล้วนมาจากการเกณฑ์ทหาร ชายที่มีร่างกายสมบูรณ์จะต้องเป็นทหารประมาณ 2 ปี ส่วนใหญ่เป็นทหารยามตามพรมแดนสองเกาหลีที่มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด นักศึกษาคอมพิวเตอร์วัย 19 ปีที่ต้องเข้าประจำการในวันที่ 5 มีนาคมเผยว่า หากเลือกได้จะขอเลือกไม่เกณฑ์ทหาร เพราะเสียเวลาหางาน เขาไม่เคยมองเกาหลีเหนือเป็นศัตรูเลย และรู้สึกสงสารด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับนักศึกษาวัย 18 ปี ที่ต้องเข้าประจำการในปีหน้าที่เผยว่า คิดเสมอว่าชาวเกาหลีเหนือและชาวเกาหลีใต้ เป็นคนชาติเดียวกัน.- สำนักข่าวไทย