สธ.25ม.ค.-กรมอนามัย สธ.เผยผลสำรวจคุณภาพน้ำบริโภคโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พบร้อยละ80ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เร่งส่งเสริมให้คนไทยในถิ่นทุรกันดารได้ดื่มน้ำสะอาด สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจคุณภาพน้ำบริโภคโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 135 แห่ง โรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน 28 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาเด็กวัยเตาะแตะ จำนวน 61 แห่ง และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2561 โดยกรมอนามัยพบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 20 และไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 80 โดยสาเหตุที่คุณภาพน้ำไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เกิดจากการโยกย้ายผู้รับผิดชอบ ขาดการถ่ายทอดองค์ความรู้ ขาดการบำรุงรักษาเพราะบางแห่งเดินทางเข้าไปได้ยาก การปิดระบบไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะระบบทรายกรอง ขาดการดูแลระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำที่เหมาะสม และผู้ดูแลดูแลไม่ทั่วถึง เนื่องจากต้องดูแลหลายอย่าง บางคนยังขาดความรู้ความเข้าใจและไม่ตระหนักถึงโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อ
นพ.ดนัย กล่าวต่อว่า กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการพัฒนาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินงานสำคัญระยะเร่งด่วนตามแผนกำหนดการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯตรวจเยี่ยมโรงเรียนปี 2562 โดยให้โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารมีการดำเนินการเตรียมความพร้อมในพื้นที่และกำหนดเป้าหมายความสำเร็จ เกี่ยวกับการดำเนินงานในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ด้านการจัดน้ำบริโภค
โดยได้จัดส่งรายละเอียดข้อมูลโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเพื่อให้โรงเรียนมีการจัดการน้ำบริโภคที่ดี เริ่มตั้งแต่ต้นทางจากแหล่งน้ำที่จะใช้บริโภค การป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรก การตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำ การดูแลรักษาความสะอาดภาชนะเก็บกักน้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำตามสภาพปัญหา การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ พัฒนาศักยภาพครู นักเรียนแกนนำ เพื่อให้มีน้ำสะอาดไว้บริการนักเรียนและประชาชนในพื้นที่และให้มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานการจัดการคุณภาพน้ำบริโภคในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร กพด. ทุกเดือน
“กรมอนามัย เขตสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและภาคีเครือข่าย ร่วมกันพัฒนาระบบบริการน้ำบริโภคในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของพื้นที่ในการถ่ายทอดให้ความรู้การจัดการน้ำสะอาด การดูแลระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ เครื่องกรองน้ำ สาธิตและสนับสนุนการตรวจสอบการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียภาคสนาม(อ11) สื่อ/คู่มือในการดำเนินการ ตลอดจนสนับสนุนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางห้องปฏิบัติการ ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภค เพื่อให้นักเรียนและประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพที่ดีและอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย