สกลนคร 5 ก.ย. – เกษตรสร้างชาติ วันนี้พาไปชมหมู่บ้านต้นแบบที่ จ.สกลนคร ในอดีตเป็นหมู่บ้านขอทาน เพราะไม่มีน้ำ ทำให้ไร้อาชีพ และยากจน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างอ่างเก็บน้ำให้ ชาวบ้านจึงเริ่มเพาะพันธุ์ผักหวานขาย จนกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจดีอันดับหนึ่งของจังหวัด
เริง ยางธิสาร วัย 52 ปี เกษตกรบ้านห้วยยาง ต.เหล่าโพนค้อ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร หมั่นให้น้ำ เติมปุ๋ย กำจัดวัชพืช ผักหวานในแปลงเพาะชำกว่า 3,000 ต้น ที่ปลูกไว้รอจำหน่ายต้นพันธุ์
เริง เล่าว่า เมื่อ 30 ปีก่อน หมู่บ้านห้วยยางถูกขนานนามว่าเป็นหมู่บ้านขอทาน เพราะน้ำแล้ง ไร้อาชีพทำกิน ต้องทิ้งถิ่นฐานไปขอทานต่างถิ่น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโท-ห้วยยาง แหล่งน้ำในพื้นที่ จากวันนั้นถึงวันนี้ชาวบ้านได้นำผักหวานจากภูพานมาเพาะพันธุ์ขาย
ปัจจุบันชาวบ้านห้วยยางกว่า 150 ครัวเรือน เพาะพันธุ์ผักหวานขาย สายพันธุ์ที่นิยมคือ พันธุ์สีทอง และหวานดง ขั้นตอนขยายพันธุ์เริ่มจากเตรียมดินปลูก ด้วยการผสมแกลบดำ มูลสัตว์ และดิน นำพันธุ์ผักหวาน 1-2 ต้น ที่เพาะไว้ ปลูกลงดินในถุงเพาะชำที่เตรียมไว้ ไม่ถึง 2 เดือนต้นผักหวานจะสูง 4-6 เซนติเมตร สามารถจำหน่ายได้ราคาถุงละ 5 บาท ถึง 300 บาท แล้วแต่ขนาด มีเกษตรกรมารับซื้อถึงที่
ผักหวานปลูกได้ทุกสภาพดิน ทนแล้ง จะได้ผลดีต้องปลูกแซมกับพืชอื่น ผักหวานอายุ 1 ปี จะสูง 1-2 เมตร สามารถเก็บยอดบริโภคและขาย ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 400-500 บาท ผักหวานสร้างรายได้ให้คนในหมู่บ้านทั้งจากการขายต้นพันธุ์และเก็บยอด เป็นเงินหลักล้านบาทต่อเดือน
อบต.เหล่าโพนค้อ และเกษตรจังหวัดสกลนคร เตรียมส่งเสริมให้หมู่บ้านห้วยยาง เป็นหมู่บ้านผักหวานปลอดสารพิษต้นแบบ หนุนเพาะพันธุ์กล้าไม้ทุกชนิดขาย สร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น. – สำนักข่าวไทย