ศาลปกครองกลาง 7 ก.ย.-ตุลาการผู้แถลงคดีเสนอยกฟ้องคดีทักษิณยื่นฟ้องอธิบดีกรมการกงสุลและปลัดกต.ที่มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือเดินทาง ชี้ทำตามกฎหมาย ขณะที่ศาลปกครองนัดอ่านคำพิพากษา 27 ก.ย.นี้
นายชวลิต ลาภผล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียื่นฟ้องอธิบดีกรมการกงสุลและปลัดกระทรวงการต่างประเทศกรณีมีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางเลขที่ U957411 และ Z530117 ของนายทักษิณ ลงวันที่วันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ด้วยการอ้างคำสัมภาษณ์ของนายทักษิณที่ประเทศเกาหลีใต้ มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทย ประกอบกับอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนนายทักษิณ เพื่อดำเนินคดีอาญา มาตรา 112, 326 และ 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา14 (3) (5) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นครั้งแรก เพื่อให้คู่กรณีสองฝ่ายแถลงปิดคดี
นายวัฒนา เตียงกูล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ แถลงชี้แจงต่อศาลว่า การกระทำของผู้ที่ถูกฟ้องเป็นการการทำที่ไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนหนังสือเดินทางอาศัยความคิดทางการเมืองที่แตกต่างโดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมาย และอธิบดีกรมการกงสุลยังให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนอ้างว่านายทักษิณ เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกและออกหมายจับ ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาเพิกถอนหนังสือเดินทาง เพราะหนังสือเดินทางดังกล่าวออกภายหลังข้อกล่าวหาที่อธิบดีการกรมสุลอ้าง จึงไม่มีเหตุผลที่จะเพิกถอน ส่วนการคุ้มครองสิทธิเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีในการเดินทาง แต่ทั้งนี้อาจเป็นการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองได้ และไม่เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายอาญา
ขณะที่ว่าที่ ร.ต.มนตรี กลั่นสอน อัยการผู้เชี่ยวชาญ ผู้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมการกงสุล และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้แถลงเพิ่มเติมแต่อย่างใด
นายนิทัศน์ แช่มช้อย ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ได้เสนอความเห็นในคดีโดยไม่ผูกพันคำพิพากษา ต่อองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน ว่าจากข้อเท็จจริงในถ้อยคำให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกาหลีใต้ของนายทักษิณและมีการเผยแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ มีข้อความที่พาดพิงองคมนตรีและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย ดังนั้น การที่อธิบดีกรมการกงสุลและปลัดกระทรวงการต่างประเทศมีคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางของนายทักษิณด้วยการอ้างคำสัมภาษณ์ของนายทักษิณที่ประเทศเกาหลีใต้มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งหรือรับฟ้องข้อโต้แย้งจากนายทักษิณ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 และเป็นไปตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ.2539 ในมาตรา 30 วรรคสอง (6) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 รวมถึงปฏิญญาสากลด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงเห็นควรที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษายกฟ้อง
จากนั้น องค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนได้จบกระบวนการพิจารณา และจะนัดให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายน เวลา 10.00 น.
ภายหลังการพิจารณาทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ กล่าวว่า ข้อเสนอของตุลาการเจ้าของสำนวนที่เสนอให้ยกฟ้องคดีนั้น ยังไม่ใช่คำพิพากษาขององค์คณะ และเป็นเพียงความคิดเห็นในส่วนของตุลาการผู้แถลงคดี ซึ่งต้องรอคำพิพากษาของศาลภายในวันที่ 27 กันยายนนี้ก่อน และจะปรึกษาหารือกับนายทักษิณว่าจะยื่นอุธรณ์หรือไม่.-สำนักข่าวไทย