าลยกฟ้องอดีตรองผู้จัดการแบงค์ธอส.เหตุไม่ได้ประโยชน์จากปล่อยสินเชื่อช่วยพวกพ้อง
ศาลอาญา รัชดา 8 ก.ย.-ศาลยกฟ้อง “ศักดาพินิจ ” อดีตรอง กก.ผจก.ธอสและลูกน้อง กรณีถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เปลี่ยนสินเชื่อโครงการเงินกู้ เหตุหลักฐานอ่อน และจนท.แบงก์ยันตรงกัน จำเลยไม่ได้รับประโยชน์ ขณะที่อธ.ศาลอาญา ทำความเห็นแย้งแนบในสำนวน ว่า ผิดจริง ควรจำคุก 5 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ก.ย.) ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.1342/2555 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายโอฬาร เกตุพันธุ์ ,นายปิยะรัตน์ อุศุภรัตน์ ,นายปัญญา สุดใจ พนักงาน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ( ธอส.) และนายศักดา หรือศักดาพินิจ ณรงค์ชาติโสภณ อดีตผู้ช่วย กก.และรอง กก.ผู้จัดการ ธอส. เป็นจำเลย 1- 4 ในความผิดฐาน กระทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 1
อัยการโจทก์ระบุฟ้องว่า เมื่อเดือน พ.ค. – ธ.ค.40 นายศักดาพินิจ จำเลยที่ 4 ได้สั่งการให้จำเลยอื่นไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างของ นายจุนเกียรติ หรือจิรพัฒน์ เบ้าสุวรรณ แต่ราคาประเมินที่ดินในโครงการ มีหลักประกันต่ำ นายศักดาพินิจ จึงเปลี่ยนสินเชื่อเป็นโครงการแหล่งเงินกู้ระยะยาว ซึ่งไม่ต้องใช้ราคาประเมิน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองกับพวกโดยทุจริต ต่อมา นายโอฬาร จำเลยที่ 1 จึงได้เห็นชอบรับเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาวทั้งที่ พวกจำเลยทราบความผิดปกติของโครงการ การกระทำจึงส่งผลให้ ธอส.ได้รับความเสียหาย จำนวน 218,916,621 บาท ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด โดยเหตุเกิดที่แขวง – เขตห้วยขวาง กทม .และที่อื่นเกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์คำเบิกความ และพยานหลักฐานที่นำสืบกันแล้ว เห็นว่า อัยการโจทก์ มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ธอส. ต่างเบิกความสอดคล้องกันว่า การปล่อยสินเชื่อของจำเลยที่ 1-4 เป็นไปตามระเบียบของธอส. และพวกจำเลยก็ไม่ได้รับผลประโยชน์จากการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ดังนั้นพยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่เพียงพอว่าจำเลยที่ 1-4 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาให้ยกฟ้อง
อย่างไรก็ดี ท้ายคำพิพากษาคดีนี้ ยังได้ระบุอีกว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ตรวจสำนวนแล้ว มีความเห็นแย้งไว้ในคดีด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมด เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เห็นควรให้จำคุก นายศักดาพินิจ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 1,2 และ 3 ให้จำคุกคนละ 3 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเห็นแย้งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาดังกล่าว ถือเป็นอำนาจของผู้บริหารราชการศาล ที่ตรวจสำนวนแล้วหากมีความเห็นต่างก็สามารถระบุไว้ในคำพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ม.11(1) และเมื่ออัยการยื่นอุทธรณ์ ความเห็นของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาก็จะประกอบในสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา เพื่อมีคำพิพากษาต่อไป ขณะที่คดีนี้อัยการโจทก์ ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฎหมายต่อไปภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา
นายศักดาพินิจ กล่าวว่า คดีนี้มีปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งภายในองค์กร ซึ่งตนถูกกลั่นแกล้งเพื่อลดความน่าเชื่อถือขณะลงแข่งขันเป็นกรรมการ ธอส. โดยมีการฟ้องร้องตนเป็นจำเลยถึง 10 คดี ซึ่งตนอดทนต่อสู้นานถึง 20 ปี จนศาลพิพากษายกฟ้อง โดยคำพิพากษาทุกศาล แม้จะปรากฏมีการทุจริตในระดับเจ้าหน้าที่ แต่เห็นว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็น หรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตนั้น และยืนยันว่าไม่กังวลกรณีที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทำความเห็นแย้ง.-สำนักข่าวไทย.-ส.12 (221)