กทม. 27 ต.ค. – ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยข้อมูลล่าสุด ใน 1 ปี พบเด็กถูกล่วงละเมิดจากคนในครอบครัวมากที่สุดถึง 151 คน
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รวบรวมสถิติคดีความผิดทางเพศ ลักษณะข่มขืนและกระทำชำเรา พบปี 2558 มีการแจ้งความดำเนินคดี รวม 2,848 คดี ส่วนปี 2559 มีการแจ้งความลดลงเหลือ 2,259 คดี อาทิ พื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้เข้าแจ้งความ 160 คน ภาคกลาง 786 คน ภาคเหนือ 466 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 575 คน ภาคใต้ 271 คน โดยจังหวัดนครราชสีมามีผู้เข้าแจ้งความมากที่สุด รวม 69 คน รองลงมา คือ จ. ชลบุรี 67 คน
ส่วนปี 2560 การแจ้งความกลับมาเพิ่มขึ้น อยู่ที่ประมาณ 2,500 คดี และปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม มีสถิติรับแจ้งความไม่ถึง 2,000 คดี
ขณะที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560- 29 สิงหาคม 2561 มีเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวม 419 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ถูกกระทำจากบุคคลในครอบครัว 151 ราย และถูกกระทำจากบุคคลภายนอก 268 คน หากประชาชนพบเห็นเด็ก-เยาวชนอยู่ในสภาพ เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แจ้งได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุแนวทางป้องกันคดีข่มขืนกระทำชำเรา คือ การสร้างความรับรู้ต่อสาธารณชนให้เกิดความร่วมมือกันในชุมชน ป้องกันภัยคุกคามทางเพศ การตัดโอกาสไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ การระมัดระวังการแต่งกาย ลดการเข้าไปในสถานที่สุ่มเสี่ยง หรือเพิ่มมาตรการป้องกัน เช่น เพิ่มแสดงสว่างและกล้องวงจรปิดในพื้นที่ลับตา ขณะที่ผู้เสียหายควรลุกขึ้นต่อสู้ เรียกร้องสิทธิของตัวเอง แต่ที่ผ่านมาผู้เสียหายส่วนใหญ่มักไม่กล้ามาแจ้งความ เพราะกลัวอับอาย แต่ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีกระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายตั้งแต่ชั้นสอบสวน เช่น จัดพนักงานสอบสวนหญิงไว้สอบปากคำ ปกปิดชื่อ-สกุล และอัตลักษณ์อื่นๆ ต่อสาธารณะ และหลังเกิดเหตุ ตำรวจวจะเร่งรัดติดตามตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว . – สำนักข่าวไทย