นนทบุรี 26 ต.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์สั่งทุกหน่วยงานหาทางแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำซ้ำซากทุกปี พร้อมเดินหน้ายกระดับสร้างความเข้มแข็งโชห่วยมากขึ้น
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเข้ามาช่วยบริหารจัดการสินค้าเกษตร เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะกรมที่ดูแลงานด้านต่างประเทศ เพื่อหาช่องทางการขยายตลาดสินค้าเกษตรออกสู่ต่างประเทศ โดยจะต้องจัดทำแผนล่วงหน้า 3 เดือน ก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาด ซึ่งกรมการค้าภายในและกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะต้องมีตัวเลขผลผลิตและความต้องการที่ลงลึกไปถึงแต่ละตลาดที่จะมารองรับสินค้า เพื่อจะดูแนวโน้มว่าผลผลิตจะล้นตลาดหรือไม่ ซึ่งจะถือเป็นการยกระดับฐานข้อมูลสินค้าเกษตรของประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจนถึงกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเข้ามาเร่งผลักดันการส่งออก ซึ่งจะต้องมีเป้าหมายการดูดซับผลผลิตออกจากตลาดที่ชัดเจน
ส่วนปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ทั้งปาล์มน้ำมันและมะพร้าว ก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาตามแผน ซึ่งมะพร้าวประกาศขึ้นบัญชีให้เป็นสินค้าควบคุม เพื่อป้องกันการลับลอบนำเข้า ส่วนปาล์มน้ำมันเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติงบประมาณชดเชยการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีความต้องการนำเข้าในยุโรป จึงมอบให้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) หาแนวทางผลักดันส่งออกโดยเร็ว รวมทั้งข้าวฤดูกาลผลิต ปี 2561/2562 ที่ผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดเดือนพฤศจิกายนนี้ ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรให้ความเข้าใจเกษตรกรตามมาตรการที่วางไว้แล้ว ซึ่งจะเน้นช่วยค่าดูแลเก็บข้าวในยุ้งฉาง
รวมทั้งการเปิดเสรี “สินค้านมและผลิตภัณฑ์นม” ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ที่จะทยอยลดอัตราภาษีโควตานำเข้าลงเรื่อย ๆ และเหลือร้อยละ 0 ในปี 2568 ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมนมของไทยให้แข่งขันได้ โดยการดึงผู้เชี่ยวชาญมาจับคู่ช่วยเหลือเกษตรกรและใช้ความได้เปรียบของไทยผลักดันให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาผลิตภัณฑ์นมในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโชห่วยที่เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากให้แข่งขันได้ โดยการแก้ไขจุดอ่อนที่มีสินค้าจำกัด ไม่หลายหลาก และต้นทุนแพง เพราะซื้อน้อยชิ้น ซึ่งเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นใหม่ โดยให้ไปรษณีย์ไทยเป็นผู้เชื่อมโยงสินค้าจากผู้ผลิต โดยตั้งเป้าหมายมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า.-สำนักข่าวไทย