กรุงเทพฯ 19 ก ย . – กฟน.ทุ่มกว่า 1,200 ล้านบาท จ่ายระบบไฟฟ้าสถานีกลางบางซื่อศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับอาเซียน ชี้ไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่นี้มีความเสี่ยงลงทุนซ้ำซ้อน
สถานีกลางบางซื่อจะเป็นจุดรวมรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าความเร็วสูงทุกสาย จะเริ่มเปิดดำเนินการกลางปี 2563 เบื้องต้นคาดจะมีผู้ใช้บริการ 30,000-40,000 คน และหลังจากนั้น 3-4 ปี หลังรถไฟความเร็วสูงทยอยเสร็จผู้ใช้บริการ 60,000-70,000 คนต่อวัน ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมากและต้องการความมั่นคง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จึงลงทุนก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อ 1,275.75 ล้านบาท.
นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า โครงการนี้รองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุด 1,200 เอ็มวีเอ (MVA) เทียบเท่าประมาณ 5 เท่าของศักยภาพระบบจ่ายไฟฟ้าให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งในส่วนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเปิดพื้นที่เป็นสมาร์ทซิตี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ตามข่าวทราบว่า บมจ.ปตท.ซึ่งอาจจะเป็นผู้ลงทุนสมารทซิตี้ จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่นี้คงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะเป็นการลงทุนซ้ำซ้อนและเป็นพื้นที่กลางเมืองมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและเสี่ยงหากเกิดวินาศภัย
สำหรับการคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด แบ่งออกเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟความเร็วสูงทุกสายที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อ เช่น รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และสถานีกลางบางซื่อ 300 เอ็มวีเอ และพื้นที่พัฒนาฯ อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการสมาร์ทซิตี้อีก 300 เอ็มวีเอ นอกจากนี้ ยังสามารถจ่ายไฟให้แก่พื้นที่โดยรอบที่อยู่ภายนอกโครงการได้อีก 600 เอ็มวีเอ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200 เอ็มวีเอ ซึ่งมั่นคงเพียงพอและมีกำลังไฟฟ้าสำรองที่พร้อมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเตรียมพร้อมรองรับได้ 900 เอ็มวีเอ ส่วนระยะ 2 เมื่อมีการเพิ่มเติมรถไฟฟ้าเส้นทางอื่น ๆ ในสถานีกลางบางซื่อ กฟน.ยังสามารถเพิ่มศักยภาพการจ่ายไฟฟ้าได้อีกจนครบ 1,200 เอ็มวีเอ นอกจากนี้ กฟน.ได้บูรณาการร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมพร้อมระบบสำรองไฟฟ้าในกรณีเหตุฉุกเฉิน โดยสามารถสับถ่ายเพื่อเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายสถานีไฟฟ้าแรงสูงข้างเคียงของ กฟผ.ในพื้นที่โดยรอบกว่า 3 สถานี (สถานีไฟฟ้าแจ้งวัฒนะ พระนครเหนือ และลาดพร้าว) รวมถึงการเชื่อมโยงจากสายส่งไฟฟ้าจากสถานีย่อยข้างเคียงของ กฟน.เอง ทำให้เพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย