กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – กรมปศุสัตว์ร่วมกับสมาคมสัตวแพทย์ คณาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย สมาคมผู้เลี้ยงสุกร และผู้แทนกลุ่มเกษตรกร วางแนวทางป้องกันโรคอหิวาห์สุกร พร้อมร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเป็น Buffer Zone ขณะเดียวกันเตรียมพร้อมเผชิญหากพบโรค
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่สาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ขณะนี้พบการระบาด 15 จุด และมีแนวโน้มการระบาดที่รุนแรงขึ้น มาตรการเบื้องต้นสั่งด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนและช่องพรมแดนให้เฝ้าระวังไม่ให้มีการลักลอบนำสุกรมีชีวิต ซากสุกร รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้ามา ห่วงที่สุด คือ เชื้อจะมาทางเครื่องบิน เนื่องจากเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคนี้เป็นเชื้อไวรัสแพร่ได้ง่าย
สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการหามาตรการป้องกันว่ายังมีจุดอ่อนที่ใดบ้าง อีกทั้งเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ หากเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรในไทย ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนกำหนดแผนดำเนินการ 7 ประเด็น คือ การป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคของฟาร์ม การสื่อสารความเสี่ยงและการเตือนภัย การเพิ่มประสิทธิภาพเฝ้าระวังโรค เครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ การควบคุมโรค และการจ่ายค่าชดเชย รวมถึงการฟื้นฟูเกษตรกรภายหลังได้รับผลกระทบจากโรค
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ทั่วประเทศพร้อมตรวจชันสูตรและยืนยันโรคโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเชื้ออาจผ่านมาทางประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเวียดนามและลาวที่มีพรมแดนติดกับจีน ทั้งนี้ จะประชุมกับทุกประเทศ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังโรค ซึ่งกรมปศุสัตว์จะสนับสนุนชุดตรวจสอบยืนยันโรค (Test Kit) เนื่องจากโรคระบาด หากตรวจพบเร็วก็สามารถควบคุมได้เร็ว
ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรยกระดับการเลี้ยงสุกรให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐาน GAP และหากเป็นรายย่อยให้ใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้ นอกจากนี้ ให้สังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกร หรือสุกรป่วย แล้วมีอัตราการตายประมาณร้อยละ 30 ให้สงสัยไว้ก่อนว่า อาจเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัด เพื่อเข้าไปตรวจและสอบสวนโรคทันที
ทั้งนี้ จะมีการประชุมติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคเป็นระยะ ๆ เพื่อวางมาตรการป้องกันและเผชิญเหตุอย่างเท่าทัน ขณะนี้กรมปศุสัตว์ออกประกาศกรมห้ามนำเข้าและเคลื่อนย้ายสุกร ซากสุกร รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสุกรที่มีต้นกำเนิดในจีน ระยะเวลา 90 วัน แต่เชื้อนี้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูงอยู่ได้นานประมาณ 6 เดือน หากการระบาดในจีนรุนแรงจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกระทรวงห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด.-สำนักข่าวไทย