ศูนย์ราชการฯ 4 ก.ย.- บวรศักดิ์ ชี้ปัญหาประเทศคือความเหลื่อมล้ำ ต้องแก้ด้วยการปฏิรูปกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจอย่างแท้จริง สร้างกฎหมายที่ดี คนเข้าถึง ต้องมียุทธศาสตร์สองทาง คือยุทธศาสตร์โลกาภิวัฒน์พัฒนา และยุทธศาสตร์ท้องถิ่นพัฒนา
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ปาฐกถาพิเศษ เรื่องการปฏิรูปกฎหมายกับสังคมไทยในอนาคต ภายในงานสัมมนาวิชาการครบรอบ 20 ปี แห่งการสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า โดยกล่าวว่า ประเทศไทยผ่านรัฐประหารหลายครั้ง แต่เศรษฐกิจเป็นไปด้วยดี สามารถลดความยากจนทำได้ระดับหนึ่ง แต่ความเหลื่อมล้ำยังมากอยู่ อย่างที่ธนาคารโลกระบุว่า จะทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งตั้งแต่ปี 49-53 ปัจจุบันที่สงบเพราะคสช.เข้ามากุมอำนาจ
ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ถ้าเลือกตั้ง รากฐานจากความเหลื่อมล้ำยังอยู่ ธนาคารโลกจึงตั้งข้อสังเกตว่าถ้าความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคมของรัฐบาลจะทำได้ยาก เมื่อดูปัญหาต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้สังคมไทยในอนาคต สำหรับตนการปฏิรูปกฎหมาย จะต้องกระจายอำนาจมากขึ้น สร้างกฎหมายที่ดี คนสามารถเข้าถึงกฎหมายได้มากขึ้น นอกจากนี้ต้องมียุทธศาสตร์สองทาง ยุทธศาสตร์โลกาภิวัฒน์พัฒนา อีกด้านลดความเหลื่อมล้ำ เรียกยุทธศาสตร์ ท้องถิ่นพัฒนา
นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า อยากเห็นสังคมมีการกระจายอำนาจ สร้างกฎหมายที่ดีเท่าที่จำเป็น ประชาชนเข้าถึงได้ สอดคล้องรัฐธรรมนูญ ประชาชนเข้าใจกฎหมาย มีกฎหมายที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม มีกฎหมายสร้างกลไกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขัน ให้ประเทศในยุคโลกาภิวัฒน์ได้ เมื่อตั้งเป้าแบบนี้ก็ต้องปฏิรูปกฎหมายไปตามนั้น รัฐบาลพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประกาศตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดน 10 แห่งทั่วประเทศ แต่ไม่เกิดตามนั้น เพราะคนที่ตัดสินใจอยู่ส่วนกลางทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าไม่กระจายอำนาจที่แท้จริง ไม่ต้องหวังว่าจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ฉะนั้นการกระจายอำนาจจึงเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูปบ้านเมือง จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่หลายส่วน โดยเฉพาะรัฐบาลที่ต้องผลักดัน รวมถึงกระแสสังคม พร้อมหวังว่าสถาบันพระปกเกล้าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันดัวย
“วันนี้มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่เมื่อทำแล้ว ไม่แน่ใจว่าคนทั่วไปจะติดตามหรือไม่ แต่สื่อมวลชนไม่สนใจนำเสนอ เราจำเป็นต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณากฎหมายและชำระกฎหมายให้จริงจัง เพราะกฎหมายปัจจุบันที่มีอยู่ บังคับใช้ไม่ทั้งหมดเนื่องจากคนที่รักษากฎหมายไม่อยากให้เลิก ต้องมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ มีสำนักงานแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน” นายบวรศักดิ์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย