เขตดินแดง 3 กย. ผู้ว่าฯ กทม.สั่งตรวจสอบรายละเอียดการจ่ายเงินเดือนลูกจ้างเกินกว่า 30 ล้านบาท จนศาลฯ มีคำสั่งลูกจ้างไม่ต้องจ่ายคืน ไล่เอาผิดตั้งแต่ปี 53
พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงศาลปกครองสูงสุด พิพากษาลูกจ้างไม่ต้องคืนเงิน เหตุ กทม.จ่ายเงินเดือนผิด ในยุคผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่า กรณีนี้มอบหมายให้ นายจักกพันธ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. ไปตรวจสอบศึกษา รายละเอียดให้แน่ชัด ประเด็นความบกพร่อง ที่ กทม.จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างในขณะนั้น ทำไมถึงมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ทราบว่า จ่ายเงินเกินไปรวมเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท ได้คืนมา 20 ล้านบาท ยังไม่ได้คืนอีก 10 ล้านบาท หากพบเกิดความบกพร่อง จากส่วนไหน ผู้ที่ดูแลในส่วนนั้นต้องรับผิดชอบ
สำหรับกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อ กทม. ออกคำสั่งเรียกคืนเงืนเดือนจากลูกจ้างประจำ กว่า 500 คน เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.2557 หลังจากกระทรวงการคลังได้ตรวจสอบ พบว่า กทม.มีการคำนวณเงินเดือนผิดพลาด โดยมีการจ่ายเงินเดือนจากที่คำนวณเกินไป ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2553 หรือ มากกว่า 3 ปี รวมเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท ส่งผลให้ลูกจ้างแต่ละคนต้องคืนเงินให้ กทม. ตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสน ซึ่งทางลูกจ้าง ได้มีการฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ส่วน กทม.ก็มีการเรียกลูกจ้างประชุมชี้แจง ทำหนังสือแจ้งเงินคืน และมีการยื่นฟ้องลูกจ้างที่ไม่ยอมจ่ายเงินคืนเป็นรายบุคคล โดยคดีดังกล่าวดำเนินการเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ เป็นเวลากว่า 4 ปี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2561 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษา กรณีที่ นายโชติ เขียวจันทร์ ลูกจ้างประจำกองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง และพวกรวม 136 คน ยื่นฟ้อง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้นเป็นจำเลยที่ 1 นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม.ขณะนั้นเป็นจำเลยที่ 2 น.ส.ธัญลักษณ์ ครามะคำ ผอ.สำนักการคลังขณะนั้นเป็นจำเลยที่ 3 และกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยที่ 4 ให้เพิกถอนคำสั่ง กทม.ที่สั่งปรับลดเงินเดือน และเรียกเงินคืนในส่วนที่จ่ายเกินมา โดยคำตัดสินของศาลฯ พิจารณาเห็นว่า เงินเดือนที่ กทม.ให้เกินมาทั้งหมด ลูกจ้างไม่ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าว เนื่องจากลูกจ้างไม่ได้มีส่วนในการคำนวณเงินเดือนที่ผิดพลาด และได้รับเงินมาโดยสุจริต .-สำนักข่าวไทย