จีน 8 ธ.ค. – รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจนำทัพโรดโชว์จีน 7-12 ธันวาคม ใน 3 หัวเมืองใหญ่ หวังดึงนักลงทุนที่สนใจหลายด้านเข้ามาลงทุนไทยเพิ่ม มั่นใจไทยมาถูกทาง
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 7-12 ธันวาคมนี้เป็นหัวหน้าคณะนำหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางไปขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนและงานสัมมนาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เมืองใหญ่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ เมืองเซินเจิ้น เมืองหางโจว และกรุงปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ฝ่ายไทยและนายแจ็ค หม่า ประธาน บริษัท อาลีบาบา ได้มีการพบปะหารือที่จะร่วมกันขยายการค้านั้น โดยช่วงเช้าวันนี้จะมีการหารือความร่วมมือระหว่างฝ่ายไทยและบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีไทยทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จนกระทั่งสามารถส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลกได้ว่ากรอบความร่วมมือครั้งนี้ทางบริษัท อาลีบาบา พร้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเอสเอ็มอี ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ พร้อมทั้งจะให้การสนับสนุนพัฒนาบุคลากรสู่โลกดิจิทัลตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และดิจิทัล อีโคโนมี เพื่อสังคม โดยกรอบความร่วมมือมี 4 ด้าน ระยะเวลาการดำเนินการภายในปี 2560
สำหรับกรอบความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเอสเอ็มอีและพัฒนา Thailand National e-commerce Platform แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่ม Starter กลุ่มชุมชนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจและไม่เคยทำการค้าแบบดิจิทัล 2.กลุ่ม Basic กลุ่มที่ทำธุรกิจเล็ก ๆ ภายในประเทศ 3.กลุ่ม Ready กลุ่มที่ทำธุรกิจภายในประเทศอย่างเข็มแข็งแล้ว แต่ไม่เคยส่งออก และ 4.กลุ่ม Expert กลุ่มที่มีความพร้อมสำหรับส่งออก ซึ่งจะได้รับการฝึกอบรมพัฒนาต่อยอดอี-คอมเมิร์ซ 30,000 ราย และคาดว่าจะสามารถทำการค้าบนออนไลน์ผ่าน platform ต่าง ๆ ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย
2.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัล โดยตั้งเป้าจะมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมเทคนิคด้านดิจิทัลทั้งหมด 10,000 ราย โดยผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมเป้าหมายจะต้องสามารถสร้าง Digital Profession ที่สามารถเป็น Developer ได้จำนวน 1,000 ราย สามารถสร้างแอพพลิเคชั่นที่ได้รับการพัฒนาสู่ตลาดจีน 100 แอพพลิเคชั่น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ 100 ราย จะได้รับการฝึกอบรมโดย Thailand Digital Academy ผ่านเทคโนโลยี Big Data และArtificial Intelligence (AI) และสร้าง trainer ที่สามารถช่วย เอสเอ็มอีรายเล็ก ๆ ให้ขายออนไลน์ได้ 2,000 ราย
3.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในประเทศไทย โดยภายใน 1 ปี บริษัทอาลีบาบา และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จะดำเนินการร่วมกัน โดยจะขยายระบบเตรียมการฝากส่งสินค้าในประเทศผ่าน Application Prompt Post ให้ใช้งานได้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยจะทำการศึกษาระบบการจัดการคลังสินค้าและการให้บริการ Fulfillment สำหรับธุรกรรมอี-คอมเมิร์ซระหว่างประเทศของกลุ่มธุรกิจในเครืออาลีบาบา เพื่อนำมาปรับใช้กับการวางระบบงานคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) ของไปรษณีไทยด้วย และ 4.การเชิญชวนบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป มาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) พร้อมทั้งพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Digital Hub and Digital Data Center) และความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำระดับโลก ตลอดจนผู้นำด้าน E-Commerce Platform ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
นายสมคิด กล่าวภายหลังลงนามเอ็มโอยูร่วมกับอาลีบาบาว่า ไทยไม่ได้ดึงกลุ่มอาลีบาบามาลงทุน แต่จะสร้างระบบเทคโนโลยีไทยเข้มแข็งและพัฒนาต่อยอด ซึ่งอาลีบาบาจะเป็นหุ้นส่วน พัฒนาสร้าง และพร้อมที่จะลงไปสู่การพัฒนาระดับรากหญ้า เพื่อเป็นผู้ผลิตค้าขายสร้างความมั่นคงไปข้างหน้า และการเชื่อมโยงทางการค้าได้แนะนำอาลีบาบาให้ใช้กรอบภายใต้การค้าอาเซียน โดยอาลีบาบาเป็นบริษัทใหญ่ที่จะเข้ามาช่วยเหลือพัฒนาระบบเทคโนโลยีของไทยหลายด้านได้ดีและประธานแจ็คหม่าก็เป็นบุคคลที่มีความต้องการที่จะช่วยเหลือประเทศที่ต้องการพัฒนาระบบเทคโนโลยีอย่างมาก และหากอาลีบาบาสนใจลงทุนสามารถขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หรือภายใต้กรอบการค้าต่าง ๆ
ด้านประธานอาลีบาบา กล่าวว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของทั้ง 2 ประเทศที่จะร่วมกันพัฒนาระบบการค้าระหว่างกันผ่านโครงการต่าง ๆ ถือเป็นพันธมิตรที่ดีและเพื่อให้กิจการของทั้ง 2 ฝ่ายเติบโตอย่างมั่นคงและอาลีบาบาก็พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนภาคธุรกิจของไทยให้ไปได้ และไทยเองก็พร้อมที่ให้อาลีบาบาเข้ามาสนับสนุน โดยไทยไม่ได้ขาดเงินในการลงทุน โดยอาลีบาบามองว่าอนาคตไทยน่าจะเป็นศูนย์เทคโลโนยีด้านต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาลีบาบาจะช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษาให้ไทยเต็มที่ แต่การที่ไทยจะก้าวอย่างเข้มแข็งได้ก็ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนไทยจะต้องพัฒนาธุรกิจของตนเองด้วย
ทั้งนี้ นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังกำหนดเข้าร่วมประชุมประจำปีของคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย – จีน ณ กรุงปักกิ่ง โดยจะใช้โอกาสดังกล่าวเชิญชวนนักธุรกิจจีนให้เข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่อีอีซี รวมถึงจะนำคณะบีโอไอหารือผู้ประกอบการรายใหญ่จากประเทศจีนไม่น้อยกว่า 10 บริษัท ที่แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและเป็นกิจการที่จัดอยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ กิจการวิจัยทางด้านการแพทย์ กิจการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์อื่น ๆ กิจการผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์อัตโนมัติ โดยผู้ประกอบการที่หารือกับคณะครั้งนี้มีความสนใจจะเข้ามาลงทุนในรูปแบบของความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในไทย โดยเฉพาะกิจการด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีแผนจะร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และโรงพยาบาลของไทย รวมถึงมีบางรายสนใจเข้ามาตั้งกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามชาติ เพื่อดูแลธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นกิจการตามเป้าหมายการดึงดูดการลงทุนของรัฐบาลอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย