ธปท. 29 มิ.ย. – ผู้ว่าฯ ธปท.มั่นใจเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันดีขึ้นมาก เข้มแข็งมากกว่าปี 2540 รับมือเงินทุนไหลออกได้ ย้ำไม่ประมาทเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เมื่อใกล้จะถึงวันที่ 2 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 หลายคนคงอดคิดไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมี โอกาสกลับไปมีปัญหาวิกฤติเหมือนวันนั้นหรือไม่ ยิ่งช่วงกลางปี 2561 ประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งประสบความระส่ำระสายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตุรกีและอาร์เจนตินาต่างประสบภาวะเงินทุนไหลออกรุนแรง เพราะภาวะการเงินโลกเริ่มตึงตัวขึ้นและนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ประเทศที่พื้นฐานเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งจึงได้รับผลกระทบรุนแรง ในกรณีของอาร์เจนตินาถึงกับต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) สูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศไทยได้รับบทเรียนจากปี 2540 และเดินผ่านจุดดังกล่าวมาไกลแล้ว ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาเราได้ช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นมาก เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีความมั่นคง และดีกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่โดยรวม ยกตัวอย่างเช่นดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสะท้อนความสามารถในการหารายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ปีที่แล้วเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 11.2 ของ GDP หรือประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และปีนี้คาดว่าจะเกินดุลถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่างจากช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 2540 ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันหลายปี เงินสํารองระหว่างประเทศของเราก็มีความมั่นคงสามารถเป็นกันชนรองรับแรงปะทะจากความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกได้เป็นอย่างดี เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าหนี้ต่างประเทศโดยรวมที่ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 3.5เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ด้านหนี้ต่างประเทศโดยรวม ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 35 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ 70 ในช่วงปี 2540 นอกจากนี้การถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าตลาดพันธบัตรทางการทั้งหมด ความเสี่ยงในกรณีของไทยที่เงินทุนไหลออกจะกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจจึงต่ำกว่าประเทศอื่น ซึ่งพึ่งพิงนักลงทุนต่างชาติในสัดส่วนสูงกว่าบางประเทศรอบบ้านของเรามีนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรสูงกว่าร้อยละ 30 จึงอ่อนไหวในเวลาที่ตลาดการเงินโลกตึงตัวขึ้น
ในการดําเนินนโยบายเศรษฐกิจ หลังจากปี 2540 นโยบายการเงินของไทยเปลี่ยนมาใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นควบคู่กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินจะถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ไม่สร้างความบิดเบือนในระบบอัตราแลกเปลี่ยน และไม่สร้างผลข้างเคียงในระบบเศรษฐกิจเหมือนกับตอนที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในช่วงปี 2540 โดยในกรอบปัจจุบัน ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่ค่าเงินผันผวนสูงผิดปกติจนอาจกระทบกับภาคเศรษฐกิจจริง สำหรับการตัดสินนโยบายการเงินจะประเมินจากปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบด้านทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้นโยบายการเงินเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศไทยมากที่สุด
ด้านภาคธุรกิจไทยมีความเข้มแข็งขึ้นมากเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน ดูจากผลประกอบการที่ดี ความสามารถในการแข่งขัน ธรรมาภิบาล และมีการระดมทุนที่หลากหลายมากขึ้นจากทั้งสินเชื่อ ตราสารหนี้ และตราสารทุน นอกจากนี้ ผู้บริหารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น โดยลงทุนอย่างระมัดระวัง ไม่ก่อหนี้เกินตัว สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) ของภาคธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ 1.2 เท่า อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติปี 2540 ซึ่งมี D/E ratio สูงถึง 5 เท่า และขณะนี้ไม่ได้พึ่งพิงเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศจนเกิดปัญหาความไม่สมดุล (Currency mismatch ) เหมือนกับช่วงก่อนปี 2540 สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 45.0 เมื่อปี 2542 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อีกทั้งสถาบันการเงินมีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ดี อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ร้อยละ 18.0 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคพร้อมทั้งให้ความสำคัญเรื่องธรรมาภิบาลมาก
“แม้เศรษฐกิจไทยจะมีเสถียรภาพเข้มแข็งและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาด การเงินโลกน้อยกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ แต่ทุกคนไม่ควรประมาท ต้องลดจุดเปราะบางในระบบ การเงิน เช่น การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และเตรียมรับความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่อาจเพิ่ม สูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยความเสี่ยงที่สำคัญปัจจุบัน คือ สภาพคล่องในตลาดการเงินโลกจะตึงตัวมากขึ้น จากการที่ธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักลดการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าที่ตอบโต้กันระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอลงและตลาดเงินตลาดทุนโลกผันผวนมากขึ้น ภาคธุรกิจจึงควรวางแผนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีเครื่องมือทางการเงินหลายชนิดที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้” นายวิรไท กล่าว
นายวิรไท กล่าวว่า ในวันนี้ที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นและมีเสถียรภาพเข้มแข็ง เราต้องให้ ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจหลายมิติ เพื่อลดจุดเปราะบางที่เหลืออยู่และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ สะสมมานาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน คุณภาพการศึกษา ผลิตภาพ และความสามารถในการ แข่งขันของประเทศ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในระบบ เศรษฐกิจโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สำหรับอนาคตปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้จะเป็น เรื่องที่น่ากังวลมากกว่าเสถียรภาพด้านการเงิน.-สำนักข่าวไทย