สำนักข่าวไทย 28 มิ.ย.-กฤษฎีกาสรุปผลรับฟังความคิดเห็นแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม ยืนยันเป็นพระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี โดยนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นเพียงรับสนองพระบรมราชโองการเหมือนกฎหมายอื่นๆ เท่านั้น ขณะที่ศูนย์พิทักษ์ฯชี้สังคมยังข้องใจความชัดเจนกระบวนการสรรหา มส.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th ในการแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) เจ้าคณะใหญ่หนต่างๆและเจ้าคณะภาค ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จนถึงวันที่ 27 มิ.ย.2561 ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในคณะสงฆ์ นักวิชาการทางพระพุทธศาสนา และองค์กรทางพระพุทธศาสนา โดยมีทั้งสนับสนุน และ ไม่เห็นด้วยนั้น
ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราช ผู้แทนมหาเถรสมาคม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างดังกล่าวแล้ว โดยได้นำมาประกอบการพิจารณาเห็นว่าบทบัญญัติที่กําหนดให้พระมหากษัตริย์ มีพระราชอํานาจในการแต่งตั้ง สถาปนาและถอดถอน สมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น เป็นพระราชอํานาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก จึงเป็นพระราชอํานาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กําหนดขึ้นเพิ่มเติมแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงได้แก้ไขถอยคําให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว
สําหรับความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปที่ให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้นักการเมืองมีอํานาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้ว เห็นว่า การที่กําหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้น เป็นบทบัญญัติที่จะต้องกําหนดขึ้นในกรณีที่พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการ ซึ่งจําเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กําหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน
ด้านพระครูปลัดกวีวัฒน์ รองเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คณะสงฆ์บางส่วนยังมีความหนักใจในคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาในกระบวนการสรรหามหาเถรสมาคมว่าจะมีกระบวนการอย่างไร เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ตอบคำถามประเด็นดังกล่าว แต่กลับตอบเพียงว่าการที่กําหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้นเหมาะสมแล้ว เช่นเดียวกับกฎหมายอื่น ๆ แต่ประเด็นที่สังคมได้ให้ความสนใจก็คือกระบวนการสรรหาพระเถระที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการมหาเถรสมาคมนั้น จะมีกระบวนการในการพิจารณาเช่นไร ผู้ใดจะเป็นผู้สรรหาจะมีคณะกรรมการสรรหาร่วมกันระหว่างฝ่ายคณะสงฆ์ และรัฐบาลหรือไม่ หรือจะเป็นการพิจารณาจากฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว ในประเด็นที่กล่าวมาซึ่งเป็นประเด็นหลักที่สังคมให้ความสนใจ ถือว่ายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากคณะกรรกรรมการกฤษฎีกา จึงขอให้ชาวพุทธได้ติดตามในขั้นตอนการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ต่อไปว่าในขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะมีการแสดงความชัดเจนในที่มาของคณะกรรมการมหาเถรสมาคมหรือไม่.-สำนักข่าวไทย