กรุงเทพฯ 17 มิ.ย.-มาดูผลการดำเนินงานปราบปรามการทุจริต ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาข้าราชการต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าลงมา แต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองขึ้นไป หรือร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จะส่งต่อให้ ป.ป.ช.
ข้อมูลจากกองคดีของสำนักงาน ป.ป.ท. สรุปตัวเลขจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2561 พบว่าจำนวนเรื่องกล่าวหา/ร้องเรียนการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551-2561 จำนวนทั้งสิ้น 33,784 คดี ปีงบประมาณ 2551 จำนวน 439 คดี ปีงบประมาณ 2552 จำนวน 959 คดี/ ปี งบประมาณ 2553 จำนวน 1,151 คดี ปีงบประมาณ 2554 จำนวน 2,094 คดี ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 3,604 คดี ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 4,513 คดี ปีงบประมาณ 2557 จำนวน 3,460 คดี ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 4,310 คดี ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 6,634 คดี ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 4,597 คดี และปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึงเดือนเมษายน 2561 มีอยู่ 2,023 คดี จะเห็นว่าการร้องเรียนและกล่าวหาแต่ละปีงบประมาณมีมากน้อยสลับกันไป แต่ภาพรวมเป็นไปในทางเพิ่มขึ้น
สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีการสุรปข้อมูลตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2561 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณาแล้ว 20,618 คดี รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง 4,138 คดี ไม่รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง 6,344 คดี สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม 1,155 คดี ส่งสำนักงาน ป.ป.ช. 8,145 คดี ส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีอาญา 790 คดี และอื่นๆ อีก 46 คดี
ส่วนผลการชี้มูลความผิด ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2561 คณะกรรมการ ป.ป.ท.พิจารณาความผิดแล้วทั้งหมด 749 คดี สำหรับการพิจารณาความผิด แบ่งออกเป็น ไม่ผิดอาญา แต่ผิดวินัย 30 คดี ผิดทั้งอาญาและวินัย 363 คดี ส่งสำนักงาน ป.ป.ช. 113 คดี และส่งพนักงานสอบสวน 33 คดี
อย่างไรก็ตาม คดีที่มีการพิจารณาความผิดแล้วนั้น เข้าสู่กระบวนการศาลกระทั่งมีคำพิพากษาไปแล้ว 30 คดี อยู่ระหว่างส่งอัยการ 69 คดี และส่งอัยการแล้ว 294 คดี.-สำนักข่าวไทย