กทม.5 พ.ค.- “ม้า อรนภา” เข้าให้ปากคำกองปราบ ยืนยันไม่ได้หลบหนี พร้อมยอมรับผิด ลั่นไม่รับรีวิวสินค้าอีก ห่วงแม่เครียดหนักหลังตนตกเป็นข่าว
นายพรชัย กฤษฎี หรือ ม้า อรนภา ดารา-พิธีกร ชื่อดัง 1 ใน 12 ดารา นักแสดง เน็ตไอดอลที่ถูกออกหมายเรียก กรณีรับรีวิวสินค้าให้บริษัทในเครือ “เมจิกสกิน” เข้าพบพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
ม้า อรนภา เปิดเผยหลังพบพนักงานสอบสวนว่า ได้ให้การกับเรื่องที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ยอมรับความผิด แต่เป็นความผิดที่ตนไม่ทราบมาก่อน เพราะกว่าจะทราบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน ก็หลังจากมีการเสนอข่าวทางโทรทัศน์แล้ว ยืนยันว่าไม่ได้หลบหนีตามที่มีข่าวแต่ตนเพิ่งได้รับหมายเรียกวานนี้ ก็มาชี้แจงวันนี้ และว่ารับ รีวิวสินค้าดังกล่าวเพียงครั้งเดียว ได้ค่าจ้างรีวิวจำนวน 20,000 บาท สินค้าดังกล่าวติดต่อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผ่านคนกลางเพราะตนไม่มีผู้จัดการส่วนตัว ทางผลิตภัณฑ์ทำสคริปต์ให้พูดตามนั้น ส่วนเหตุผลที่รับรีวิวเพราะเป็นอาชีพ สินค้าประเภทอื่นก่อนหน้านี้ก็รับรีวิวเช่นกัน และคิดว่าสินค้าดังกล่าวคงผ่านการตรวจสอบมาแล้ว โดยไม่ได้ทดลองใช้ก่อนแต่อย่างใด ซึ่งยอมรับว่าอาจจะเข้าข่ายหลอกลวงประชาชนเพราะตนไม่ได้ใช้จริง เรื่องนี้ ส่งผลกระทบกับครอบครัวตนอย่างมาก โดยเฉพาะแม่ที่มีอายุ 93 ปี ทั้งตกใจและเป็นกังวล ซึ่งตนก็ห่วงแม่มาก เพราะเป็นลูกคนเดียวและที่ผ่านมาก็ดูแลอย่างดีมาโดยตลอด จากนี้เชื่อว่าเจ้าของสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆจะไตร่ตรองมากขึ้นหากจะมีการจ้างรีวิว สำหหรับตน นับจากนี้คงไม่รับรีวิวสินค้าเพิ่มเติม มีเพียงสินค้าของตนเท่านั้นที่ยังมีการรีวิวอยู่ และจะไม่ฟ้องกลับแต่อย่างใด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอร้องให้ดารา ผู้มีชื่อเสียงและเน็ตไอดอลประชาสัมพันธ์ในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งตนก็ยินดีที่จะปฏิบัติตาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานว่าพฤติการณ์ของม้า อรนภา เข้าข่ายความผิดใดหรือไม่ ตามกฎหมายแล้ว ความผิดเกี่ยวกับการเป็นพรีเซ็นเตอร์รับรีวิวสินค้าจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 มาตรา 41 วรรคสอง (1) ข้อหาโฆษณาเครื่องสำอางด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง อันเป็นความผิดตาม มาตรา 84 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 ข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร อันเป็นความผิดตาม มาตรา 70 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,0000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 41 ข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร เพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีอัตราโทษตามมาตรา 71 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท และ 3.พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ข้อหานำเข้าสู่ระบบอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ . – สำนักข่าวไทย