ทำเนียบฯ 27 มี.ค. – ครม.เห็นชอบแก้ไขกฎหมายที่ราชพัสดุ บุกรุกใช้ผิดวัตถุประสงค์โทษจำคุก
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2518 เนื่องจากบังคับใช้เป็นเวลานาน จึงกำหนดนิยามให้ชัดเจนมากขึ้น สำหรับการกำหนดที่ราชพัสดุซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ รวมถึงที่ดินในต่างประเทศของสถานทูต ของหน่วยงานรัฐในต่างประเทศ แต่ไม่รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่า อสังหาริมทรัพย์ที่พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินของรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท. ) องค์การมหาชน และตั้งคณะกรรมการที่ราชพัสดุเพิ่มอีก 3 คน มาจากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถเป็นประจักษ์ต่อสาธารณชน ความรู้ด้านการยกร่างแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อร่วมเป็นกรรมการเพิ่ม
หากมีการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ ต้องเสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาในเรื่องการเช่าที่ดิน โดยไม่จำเป็นต้องเสนอเข้าสู่กฎหมายร่วมลงทุนกับเอกชน PPP แต่หากมีความซับซ้อนต่อการลงทุน และบริหารโครงการในการใช้ประโยชน์เพื่อบริการด้านสาธารณะ ต้องเสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณาแผนลงทุน รวมทั้งการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุมากกว่า 5,000 ล้านบาท ต้องเสนอบอร์ดที่ราชพัสดุพิจารณาด้วยเช่นกัน ขณะที่กฎหมายร่วมลงทุนกับเอกชนเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเร็วนี้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่
นอกจากนี้ หากส่วนราชการ หน่วยงานใดครอบครอง ดูแลการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุ ต้องจัดทำรายงานการใช้ประโยชน์ต่อกรมธนารักษ์ประจำทุก 2 ปี หากรายงานผิดวัตถุประสงค์ถือว่ากระทำผิดกฎหมาย และหากบุคคลใดครอบครอง บุกรุก หรือสร้างความเสียหายแก่ที่ราชพัสดุ มีโทษอาญาจำคุก 3 ปี ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ หากบุกรุกที่ราชพัสดุเกิน 50 ไร่ หรือทำให้เสียหาย โทษจำคุก 5 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ หลังจากกรมที่ดินโอนอำนาจการประเมินราคาที่ดินมาให้ยังกรมธนารักษ์ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมการประเมินราคาที่ดินระดับส่วนกลาง ปลัดคลังเป็นประธาน ระดับจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อจัดทำบัญชีรายแแปลง ราคาที่ดินในพื้นที่ กำหนดแผนที่ ราคาประเมิน เพื่อประกาศให้ประชาชนรับทราบ 1 เดือน หรือเดือนธันวาคม ก่อนเริ่มบังคับใช้ทุกวันที่ 1 มกราคม เป็นประจำทุก 4 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง. – สำนักข่าวไทย