ก.พลังงาน 3 ต.ค. – พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ย้ำ 1-2 เดือน เสนอนายกรัฐมนตรีส่งผลตัดสินใจ “สร้าง-ไม่สร้าง” โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ พร้อมวางเป้าหมายปี 2560 เดินหน้ายุทธศาสตร์ Energy 4.0 ด้าน กฟผ.เตรียมทางออกศึกษาแผนสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ทดแทนในพื้นที่อันดามัน
พล.อ.อนันตพร กล่าวในโอกาสครบรอบ 14 ปี วันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพลังงาน ว่า ในปี 2560 การขับเคลื่อนด้านพลังงานจะยังอยู่ในกรอบแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว โดยในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ด้านการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการกระจายเชื้อเพลิงและกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองระดับที่เหมาะสม โดยจะลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงเหลือร้อยละ 59.4 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จากเดิมปี 2559 ใช้อยู่ที่ร้อยละ 64.5 และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 9.6 ซึ่งเดิมปี 2559 ใช้เพียงร้อยละ 6.4 รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินลงเหลือร้อยละ 16.8 ซึ่งเดิมปี 2559 ใช้อยู่ที่ร้อยละ 18.6 และแผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP จะลดความเข้มการใช้พลังงานลง 8.20 ktoe ต่อพันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.98
ทั้งนี้ ในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งรอผลการพิจารณาข้อดีและข้อเสียของคณะกรรมการศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (ไตรภาคี) ที่กำลังจะสรุปและเสนอมายังรัฐบาล เพื่อตัดสินใจหลังจากนั้นจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณา
“กระทรวงพลังงานต้องการเห็นโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพราะเชื่อมั่นในเทคโนโลยีป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ท้ายสุดจะสร้างหรือไม่สร้างก็ต้องฟังความเห็นจากทุกฝ่าย” พล.อ.อนันตพร กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังมีนโยบายที่จะเร่งให้เกิดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เสรี โดยพยายามที่จะให้มีผู้เล่นมากขึ้นนอกเหนือจาก บมจ.ปตท.หลังจากที่รัฐเองก็ได้มีการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อแก่บุคคลที่สาม (TPA) โดยจะต้องมองตั้งแต่การลงทุนคลังและระบบท่อ ซึ่งขณะนี้ทาง กฟผ.ก็เตรียมลงทุนคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ หรือ FSRU 5 ล้านตัน ภาพรวมจะดูทุกด้านและเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
รมว.พลังงาน กล่าวด้วยว่า ภายในปีงบประมาณปี 2560 กระทรวงฯ จะเร่งดำเนินงานตามแผนที่สำคัญควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์พลังงานตามนโยบาย Energy 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายการสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศผ่านผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีความทันสมัย แข่งขันตลาดโลกได้ อาทิ การบริหารพลังงานทดแทนให้มีความเสถียร การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน(Energy Storage) การเตรียมความพร้อมในการรองรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอการตัดสินใจว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่หรือไม่ โดยขณะนี้โรงไฟฟ้ากระบี่เองก็ล่าช้ามาแล้ว 2 ปี จากเดิมจะก่อสร้างเสร็จและไฟฟ้าเข้าระบบปี 2562 ซึ่งในส่วนของประชาชนในพื้นที่ก็ไม่ได้คัดค้าน แต่ไม่ได้แสดงออกว่าสนับสนุน อย่างไรก็ตาม หากก่อสร้างไม่ได้ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ยังเพิ่มขึ้นและกำลังผลิตไม่เพียงพอ ทาง กฟผ.ก็ได้ศึกษาเตรียมพร้อม โดยหาพื้นที่ 3-4 แห่งในพื้นที่อันดามัน สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็พร้อมจะก่อสร้าง FSRU นำเข้าแอลเอ็นจี ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจแอลเอ็นจี เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค
“ขณะนี้มีผู้จำหน่ายแอลเอ็นจี และเทคโนโลยี FSRU มานำเสนอ กฟผ. ซึ่งต้นทุนผลิตไฟฟ้าจะถูกกว่า ปตท.แน่นอน แต่สิ่งที่อยากให้มองภาพรวม คือ รัฐต้องการให้เกิดการแข่งขันและ กฟผ.ก็พร้อม เพราะหากเอกชนนำเข้า ปัญหาหากนำเข้าได้หรือไม่ได้ และเกิดการฟ้องร้องตามมา ก็จะกระทบต่อระบบ” นายกรศิษฏ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย