กรุงเทพฯ 16 มี.ค.- “ปิยสวัสดิ์ -ชาญศิลป์” ประสานเสียงการคัดเลือกซีอีโอ ปตท.คนใหม่โปร่งใส ไม่ได้ถูก ปตท.ฟ้องร้อง เรื่องปาล์มอินโดนีเซียแต่อย่างใด ไร้ความขัดแย้งในองค์กร พร้อมเดินหน้าปรับองค์กรรับ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่หรือ Disruptive Technology
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการ ปตท. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ปตท.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท.เป็นผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 9 แทนนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ที่จะหมดวาระวันที่ 30 สิงหาคม 2561
นายชาญศิลป์ เป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการทำงานใน ปตท. มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ตอบสนองแผนกลยุทธ์ของ ปตท. ในเรื่อง Disruptive Technology เพื่อแสวงหาธุรกิจใหม่ของ ปตท.และสามารถขับเคลื่อนธุรกิจของ ปตท.ต่อไป โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะนำนโยบาย CHANGE for Future of Thailand 4.0 เพื่อนำพาให้ ปตท. เป็นองค์กรแห่งความภาคภูมิใจ เน้นความโปร่งใส สู่ความยั่งยืน มีความก้าวหน้าและรุ่งเรืองในอนาคต
ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของนายชาญศิลป์ ตามกฎหมายแล้ว และตามข้อมูลที่ ปตท.ได้รับทราบนั้น นายชาญศิลป์ ไม่ได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการลงทุนในธุรกิจปาล์มตามที่มีข่าวแต่อย่างใด จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าการที่ตนได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ไม่ได้มีเส้นสายแต่อย่างใด โดยแม้ว่าจะทำงานเพียง 1 ปี 8 เดือน แต่ด้วยความเป็นลูกหม้อมายาวนานถึง 35 ปี ทำงานเป็นกรรมการบริษัทมาถึง 16 แห่ง และเป็นประธานบริษัท 5 แห่ง ประกอบกับ ปตท.มีการวางการทำงานที่ต่อเนื่อง เช่น โครงการ “PTT 3D” อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงจะทำหน้าที่ประสานงานให้เดินหน้าเกิดประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน ผู้ถือหุ้นรวมทั้งต้องเตรียมคน ให้ทำงานต่อเนื่อง เพราะต้องยอมรับว่า ปตท.เป็นเช่นเดียวกับหลายองค์กรที่เมื่อผู้บริหารยุค BABY BOOM เกษียณแล้ว จะเกิดการขาดช่วง ก็ต้องการเตรียมคน ให้เกิดการทำงานต่อเนื่อง เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
“แผน PTT 3D ปัจจุบันจะต้องต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มด้านฟอสซิลทั้งน้ำมัน ปิโตรเครมี ก๊าซธรรมชาติ ขณะเดียวกันต้องดูเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น ต้องเน้นเรื่องพลังานทดแทน ซึ่งส่วนเหล่านี้ ปตท.ร่วมกันดูทั้งองค์กรอยู่แล้ว ผมก็มาประสานต่อ และเดินหน้าให้ ปตท.เป็นองค์กรที่สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ตนไม่ได้ถูก ปตท.ฟ้องร้องแต่อย่างใด เพราะหากถูกฟ้องร้องก็คงไม่ผ่านคุณสมบัติจากการคัดเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยข้อเท็จจริงที่ตนเกี่ยวข้องกับบริษัท ปตท. กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งลงทุนปาล์มในอินโดนีเซียนั้นตนเข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการในช่วงเดือนสิงหาคม 2551-พฤษภาคม 2552 หลังจากเกิดปัญหาและเมื่อ ปตท.ตรวจพบหลักฐานความผิดปกติในการลงทุนธุรกิจปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของพีทีทีจีอี ต่อมาจึงได้มีการสอบสวนลงโทษทางวินัยผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาสอบสวน และยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ซึ่งไม่ได้ฟ้องตน เป็นการฟ้องบุคคลอื่น โดยที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้เชิญตนเองไปให้ข้อมูลในฐานะที่เคยบริหารงานเท่านั้น
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ภายในองค์กรไม่มีการขัดแย้ง แม้ตนได้รับการคัดเลือกให้เป็นซีอีโอคนใหม่ แต่ไม่ได้คิดจะไปล้างบางใครทั้งสิ้น ผู้สมัครดำรงตำแหน่งทุกคนก็ล้วนเป็นพี่เป็นน้องกัน เรียนในชั้นเรียนผู้บริหารร่วมกัน เช่น นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ก็ได้มายินดีเมื่อคณะกรรมการเห็นชอบการแต่งตั้ง ขณะที่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ก็ได้ประสานการทำงานมาโดยตลอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปี 2560 ปตท.ชี้แจงว่าคดีปาล์มอินโดนีเซียนั้น ปตท.มีคดีที่เป็นโจทก์ร่วมกับพีทีทีจีอี ยื่นฟ้องผู้เกี่ยวข้อง 2 คดี ได้แก่ 1.คดีที่ยื่นศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของพีทีทีจีอี 2.สืบเนื่องจากหน่วยงานตรวจสอบภายใน ปตท.ตรวจพบความผิดปกติจากความเสียหายจากการลงทุน ซึ่งพบว่าเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอก คณะกรรมการ ปตท.จึงมีมติให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาตามกฎหมาย โดยปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ นายชาญศิลป์ นอกจากจะเป็นผู้บริหาร ปตท.แล้ว ยังดำรงตำแหน่งประธานชมรมวิ่งเพื่อสุขภาพ ปตท. และประธานชมรมจักรยาน โดยที่ผ่านมาในช่วงการเข้าทำงานใน บมจ.ไออาร์พีซี ได้ร่วมแก้ไขปัญหาด้านข้อขัดแย้งด้านแรงงาน และเมื่อกลับมาเป็นผู้บริหารใน ปตท.ได้เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้ 6 บริษัทด้านปิโตรเคมีของ ปตท.ที่มีต่างชาติร่วมถือหุ้นโอนถ่ายไปเป็นบริษัทในเครือ ของ บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (พีทีทีจีซี) ภายในระยะเวลา 12 เดือน และเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี และวิศวกรรม บมจ.ปตท. ได้วางแผนรองรับเทคโนโลยีใหม่เติบโตด้วยระบบพลังงานแบบ S CURVE โดยด้านธุรกิจขั้นต้น เดินหน้าแผน ASEAN GAS and Power ,การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานแสงอาทิตย์, เอ็นเนอร์ยี่สตอเรจ, สมาร์ทกริด และยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี ) พร้อมต่อยอดเป็น Smart S-curve ประกอบด้วย RAPID Prototype , Digital Platfrom , เทคโนโลยีหุ่นยนต์ รวมถึงการเดินหน้าโครงการ Bio S-curve ที่จะต่อยอดด้านเศรษฐกิจชีวภาพสร้างมูลค่าเพิ่ม นับเป็นการทำงานที่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเช่นเดียวกับบริษัทพลังงานทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย