รัฐสภา 15 ก.พ. – ผู้ประกันตนกว่าล้านคนเฮ ได้สิทธิกลับเข้าระบบผู้ประกันตน หลัง สนช. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน กำหนดให้ยื่นใช้สิทธิภายใน 1 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลัง
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (15 ก.พ.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบวาระ 3 ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนน 193 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 3 เสียง
ทั้งนี้ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ประกันตน ที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง เนื่องจากมีการขาดส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน หรือส่งเงินไม่ครบจำนวน เป็นเวลา 9 เดือน ในระยะเวลา 12 เดือน ซึ่งทำให้ขาดจากการเป็นผู้ประกันตน และไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ หากมีความประสงค์ที่จะกลับมาเป็นผู้ประกันตน ผู้ที่ประสงค์จะกลับเป็นผู้ประกันตน จะต้องยื่นคำขอผ่านสำนักงานประกันสังคมภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพื่อให้ประชาชนได้รับสวัสดิการทั่วถึง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้ง เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงินไว้ใช้ในยามชราภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ จากร่างกฎหมายนี้ จะมีกลุ่มแรงงานผู้ได้รับสิทธิ์กว่า 1 ล้านคน กลับเข้ามาสู่ระบบการประกันตนอีกครั้ง และการกลับเข้ามาสู่ระบบผู้ประกันตน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบย้อนหลัง โดยหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จะมีการแจ้งให้ผู้ประกันตนทราบเป็นรายบุคคลด้วยหนังสือ ส่งไปยังตามที่อยู่ที่เคยแจ้งไว้ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิสามารถดาวน์โหลดเอกสารแบบยื่นจากเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม และดำเนินการยื่นต่อสำนักงานได้ภายใน 1 ปี หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ และต้องจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาทตามเดิม ตั้งแต่เดือนแรกที่มีการยื่นขอ ซึ่งจะได้รับสิทธิ์คุ้มครอง เช่น เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ .- สำนักข่าวไทย