ตลท. – สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จี้ IOD ทบทวนคะแนนธรรมาภิบาล กรณีบิ๊กอิตาเลียนไทย ถูกจับล่าสัตว์ป่า
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวถึงการจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ กับพวก จากการล่าสัตว์ป่าสงวนในจุดต้องห้ามภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ว่า ในกรณีนี้ไม่สามารถใช้ความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2535 มาพิจารณาได้ เนื่องจากในพ.ร.บ. หลักทรัพย์ ฯ กำหนดข้อห้ามการเป็นผู้บริหารจดทะเบียนต้องกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชัน ถูกกล่าวโทษ และ ถูกคำพิพากษาจนถึงที่สุดเท่านั้น ซึ่งกรณีของนายเปรมชัยนั้นต้องกลับมาดูในเรื่องธรรมาภิบาลและจริยธรรม ซึ่งบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ได้ประกาศหลักบรรษัทภิบาลอิตาเลียนไทย ปี2561 ไว้แล้วว่าจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่มีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ดังนั้นทางสถาบันกรรมการบริษัท หรือ IOD ซึ่งให้คะแนนธรรมาภิบาลบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ในระดับ 4 ดาวเมื่อปี 2560 ต้องกลับไปทบทวน โดยต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง
ส่วนหากมีการตัดสินว่านายเปรมชัย กระทำผิดจริง ก็ถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทต้องพิจารณาทบทวนเพื่อดูแลให้เหมาะสม หากไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง จะถูกแรงกดดันจากภาคสังคมเข้ามาตรวจสอบ
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า เมื่อบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ร่างหลักการหลักบรรษัทภิบาลมาแล้ว จะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่มีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ผู้บริหารและพนักงานก็ต้องทำตามหลักบรรษัทภิบาลดังกล่าวเพราะการร่างบรรษัทภิบาลขึ้นมาเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญขององค์กรแล้ว และในเย็นนี้ ( 7 ก.พ.) สมาชิกของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ( บลจ.) จะหารือในเรื่องนี้ เพราะถือเป็นกรณีตัวอย่าง พร้อมยืนยันกองทุนธรรมาภิบาล (CG) ไม่ลงทุนในหุ้นบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ หรือ ITD
นอกจากนี้ 26 บลจ. ประกาศเจตนารมณ์ พร้อมปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน โดยสมาคมจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อจัดสัมมนาและเวิร์คชอปเตรียมความพร้อมเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง ตั้งแต่การกำหนดนโยบายและการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการ นับตั้งแต่การคัดเลือก การตัดสินใจลงทุน และการติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดกรณีที่มีเหตุการณ์หรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ โดยผู้จัดการกองทุนอาจยกระดับมาตรการติดตาม หรือร่วมมือกับผู้ลงทุนสถาบันอื่นในการติดตามดูแลบริษัทดังกล่าวแล้วผลักดันให้บริษัทแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล มีผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวมากกว่าผลตอบแทนระยะสั้น
รายงานข่าวจาก ก.ล.ต.ระบุว่าจากกรณีที่ปรากฏในข่าวเกี่ยวกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนถูกควบคุมตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ในเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับคำถามที่ว่าผลสืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนหรือไม่นั้น ตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ กจ. 3/2560 ไม่ได้ระบุให้ความผิดในเรื่องดังกล่าวเป็นลักษณะที่จะเข้าข่ายขาดความน่าไว้วางใจ
อย่างไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีการจัดทำแนวบรรษัทภิบาลที่ดีของตนเองในระดับที่สูงกว่ากฎหมาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพิ่มความโปร่งใส และการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่ง ก.ล.ต.เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีและสนับสนุน ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยว่าอาจมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามแนวบรรษัทภิบาลของบริษัทเอง คณะกรรมการของบริษัทนั้น ๆ จึงควรพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรและเปิดเผยให้ผู้ถือหุ้นได้รับรู้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนต่อไป.- สำนักข่าวไทย