กรุงเทพฯ 16 ม.ค.-กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประเมินมีผู้จับมือแข่งขันประมูลแหล่งปิโตรเลียม
“เอราวัณ -บงกช” จำนวน 3 กลุ่ม
แม้จะมาจากหลากหลายประเทศ
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เชื่อมั่นว่า การประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทาน
ปี 2565-2566
คือแหล่งเอราวัณ บงกช
จะมีผู้จับกลุ่มเข้ามาประมูลประมาณ 3 ราย ซึ่งจะมาจากหลายประเทศ ได้แก่ ตะวันออกกลาง
อินเดีย จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และรายเก่าที่เป็นเจ้าของสัมปทาน ปัจจุบัน คือ เชฟรอน และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
หรือปตท.สผ. โดยตามนโยบายของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
คาดว่าเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) จะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้และจะสามารถเปิดประมูลได้ในเดือนมีนาคม
2561
อย่างไรก็ตาม นโยบายหลักของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ
ไม่ว่าใครจะประมูลได้ จะต้องมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องผลิตทันทีไม่ต่ำกว่า
1,500
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากเดิมที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเคยเสนอให้ค่อย ๆ เพิ่มกำลังผลิต
จากช่วงหมดอายุสัมปทาน โดยเริ่มจาก 400
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงแรก
“ประเด็นนี้ในแง่ที่ดีก็คือประเทศจะได้มีกำลังผลิตปิโตรเลียม
เพื่อความมั่นคงของประเทศจะได้ต่อเนื่อง หากผลิต 1,500
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ในแง่ของการประมูล ก็อาจะทำให้รายใหม่
อาจจะเสนอแข่งขันลำบากเมื่อเปรียบเทียบกับรายเก่า”นายวีระศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากระทรวงพลังงาน ว่า ในส่วนของแหล่งบงกชนั้น คาดว่า
เชลล์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นร่วมกับ ปตท.สผ. และโททาลนั้น คาดว่า คงจะไม่เข้าร่วมประมูลต่อ
เพราะก่อนหน้านี้ เชลล์ได้ประกาศขายทรัพย์สินในแหล่งบงกช
แต่ล่าสุดได้ยุติการขาย โดยเบื้องต้น
ทราบว่า ปตท.สผ.จะจับมือโททาล ในการเข้าประมูลแหล่งบงกช ส่วนแหล่งเอราวัณ ทางกระทรวงพลังานพยายามหว่านล้อมให้
ปตท.สผ.เข้าประมูลแข่งกับทางทางเชฟรอน ซึ่ง
ปตท.สผ.อยู่ในระหว่างการเจรจากับเชฟรอนว่าจะร่วมประมูลด้วยกัน โดยมีเงื่อนไขว่า
ปตท.สผ.ขอถือหุ้นเพิ่มในแหล่งเอราวัณจากสัดส่วนในปัจจุบันที่อยู่ประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น
-สำนักข่าวไทย