กรุงพนมเปญ 10 ม.ค.- นายกรัฐมนตรี เสนอผลักดันระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาค เชื่อมต่อเข้ากับเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านตะวันออกของไทย เชื่อมโยงหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน ในการประชุมแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 2
พิษณุ แป้นวงศ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ติดตามภารกิจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา รายงานว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “แม่น้ำแห่งสันติภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเรา” โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอีก 5 ประเทศ ร่วมประชุมด้วย ได้แก่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว นายมิ้นต์ ส่วย รองประธานาธิบดีเมียนมา และนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการกล่าวถ้วยแถลง นายกรัฐมนตรี เห็นว่ากรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ต้องดำเนินการจริง ไม่ใช่เพียงแค่การเจรจา ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งสาขาความร่วมมือเร่งด่วน 5 สาขา ภายใต้การทำงานของ 6 คณะทำงาน อนุมัติโครงการต่าง ๆ แล้ว 132 โครงการ จาก 250 โครงการ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เสนอทิศทางความร่วมมือร่วมกันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย นวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ทันสมัย โดยรัฐบาลไทยกำลังเร่งพัฒนาพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลและตลาดโลกผ่านโครงการดิจิตอลชุมชนและอินเตอร์เน็ตประชารัฐโดยร่วมกับภาคเอกชน และการให้ความสำคัญกับกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) โดยมีกองทุนสนับสนุนและให้ข้อมูล และได้มีการจัดงาน Startup Thailand ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่มีหลายประเทศหลายบริษัทให้ความสนใจเข้าร่วม
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ไทยสนับสนุนข้อริเริ่มของจีน ในการจะจัดทำแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ซึ่งจะช่วยให้อนุภูมิภาคเชื่อมโยงเข้ากับนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน ไทยสนับสนุนการจัดทำระเบียงเศรษฐกิจแม่โขง – ล้านช้าง และผลักดันให้ระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค เชื่อมต่อเข้ากับเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านตะวันออกของไทย โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจจีน – อินโดจีน ยังสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย + 1 ซึ่งสนับสนุนการลงทุนและการค้าแบบบูรณาการ ไทยเห็นพ้องกับจีนที่เสนอให้ขยายสาขาความร่วมมือของกรอบแม่โขง-ล้านช้าง โดยสาขาที่สามารถขยายความร่วมมือร่วมกันในอนาคตได้แก่ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการศึกษา
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยังให้ความสำคัญความร่วมมือด้านน้ำ เพราะเชื่อว่า น้ำเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญในลำดับต้น ที่จะส่งเสริมให้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิด ทั้งด้านการเมือง การส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำท่วมและน้ำแล้งในประเทศลุ่มน้ำ ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาการที่ยั่งยืนและความสุขสงบและสันติภาพของประเทศลุ่มน้ำโขง โดยไทยยินดีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานด้านทรัพยากรน้ำในปีนี้
พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ไทยในฐานะประธาน ACMECS ในปีนี้ ขอขอบคุณจีนที่สนับสนุนประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง ซึ่งเป็นสมาชิก ACMECS และกำลังจัดทำแผนแม่บท ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทฉบับแรกของอนุภูมิภาค ทั้งนี้ แผนแม่บท ACMECS และปฏิญญากรุงเทพ จะปรากฏผลเป็นรูปธรรมในอีก 6 เดือนข้างหน้า
ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะร่วมพิธีมอบตำแหน่งประธานร่วม ในการประชุมครั้งต่อไปให้แก่ สปป.ลาว .-สำนักข่าวไทย