สำนักข่าวไทย 5 ม.ค.-นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เผยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2-15 บาท กระทบผู้ค้ารายย่อยกว่าล้านราย เสี่ยงฉุดการเติบโตจีดีพีของไทย แนะภาครัฐควรเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 2-15 บาท ว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME กว่าล้านรายทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันนายจ้าง จ่ายค่าแรงลูกจ้างเกินอัตราขั้นต่ำอยู่แล้ว เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ เฉลี่ยจ่ายอยู่วันละ 350 บาทต่อคน จากเดิมขั้นต่ำ 310 บาท ดังนั้น การปรับค่าแรงรอบนี้จะยิ่งผลักภาระเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ค้ารายย่อย ทำให้การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ฉุดรั้งการเติบโตจีดีพีของไทยในปีนี้
นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวต่อว่า ภาครัฐควรใช้มาตรการเพิ่มทักษะ พัฒนาฝีมือให้กับผู้ใช้แรงงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง และมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น การลดหย่อนภาษี ไม่ใช่มีแต่การสนับสนุนให้เป็นหนี้ โดยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจะยิ่งส่งผลให้กิจการขนาดเล็กต้องปิดตัวลง นอกจากนี้ควรมีโครงการส่งเสริมผู้ค้าหน้าใหม่วัยเกษียณ ต้อนรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ด้านนายอรรถยุทธ ลียะวณิช ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ซึ่งในวันที่ 10 ม.ค.นี้ คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง 3 ฝ่าย (ไตรภาคี) จะมีการพิจารณาตัวเลขค่าจ้างของแต่ละจังหวัด ซึ่งนำมาจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการจังหวัดทั่วประเทศ โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพของแต่ละจังหวัดภาวะเงินเฟ้อและทิศทางตลาดโลก มาพิจารณากำหนดเป็นค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดอย่างเป็นทางการอีกครั้ง .-สำนักข่าวไทย