กทม. 10 ต.ค.-ผู้นำเอซีดี เห็นพ้องกำหนดทิศทางความร่วมมือที่ชัดเจนในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียสู่การสร้างประชาคมเอเชีย ร่วมลงนามปฏิญญา 3 ฉบับ รวมถึงปฏิญญากรุงเทพ ขณะที่ภาคเอกชน เสนอให้พัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับระบบการเงินและส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่เชื่อว่าจะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต
การประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD Summit ครั้งที่สอง ซึ่งมีผู้นำและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิก 34 ประเทศเข้าร่วม ปิดฉากลงอย่างงดงาม โดยผู้นำเอซีดีเห็นพ้องที่กำหนดทิศทางความร่วมมือที่ชัดเจน ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างประชาคมเอเชียในอนาคต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีการรับรองวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2030 เพื่อสร้างประชาคมเอเชียในอีก 14 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีความร่วมมือ 6 ด้าน ทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน น้ำ และการท่องเที่ยว และยังรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ และแผนปฏิบัติการพิมพ์เขียวระยะ 5 ปี เพื่อใช้เป็นแนวทางในความร่วมมือทั้ง 6 ด้านให้เป็นรูปธรรม โดยทุกประเทศจะตั้งคณะทำงานเข้ามาขับเคลื่อนความร่วมมือนี้ และจะมีการรายงานความคืบหน้าในเดือนกันยายนปีหน้า
ทั้งนี้ ไทยเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนด้านการส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง รวมถึงรับรองแถลงการณ์เอซีดี ที่ประกาศบทบาทเอเชียในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความผันผวนและท้าทาย ขณะที่ผู้นำเอซีดียังเชื่อมั่นว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและแข็งแกร่ง และถือว่าขณะนี้เป็นช่วงเวลาศตวรรษแห่งเอเชีย
ก่อนหน้านี้ นายแจ็ค หม่า ประธานบริหารกลุ่มบริษัทอาลีบาบา กล่าวรายงานผลการประชุมในระดับภาคธุรกิจว่า ขณะนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคไอที จึงอยากแนะนำให้รัฐบาลทุกประเทศพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีโดยเชื่อมโยงกับระบบการเงิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้นักธุรกิจรุ่นใหม่และกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต สามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ขณะเดียวกัน ต้องพัฒนาระบบการศึกษา ให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์รู้จักประยุกต์ใช้นวัตกรรมให้เป็นประโยชน์ หากทำได้นอกจากจะทำให้ทวีปเอเชียเติบโตเร็วที่สุดแล้ว ยังถือเป็นว่าได้จัดการปัญหาความยากจนได้ดีที่สุดด้วย
ระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุม 3 ฝ่าย คือ ไทย ซาอุดีอาระเบีย และบาห์เรน เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย หลังจากชงักไปกว่า 20 ปี โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยดีอย่างฉันมิตร และมอบหมายให้คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายไปหารือถึงแนวทางที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยใช้กลไกของกระทรวงการต่างประเทศเป็นเครื่องมือ.-สำนักข่าวไทย