กรุงเทพฯ 4 ม.ค.- ร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันจัดทำเสร็จแล้ว มุ่งพัฒนาไทย 5 ด้าน โดยมุ่งพัฒนาประเทศบนฐานแนวคิดการ “ต่อยอดอดีต” ด้านการเกษตรไทยจะมุ่งสู่ การเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ดำเนินการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันเสร็จแล้ว และส่งให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ซึ่งเป็นเลขายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อนำเสนอคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา และดำเนินการจัดการรับฟังความเห็นประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศต่อไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และยุทธศาสตร์ที่วางระยะยาว 20 ปี สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมในอนาคตข้างหน้า
สำหรับร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะมุ่งพัฒนาประเทศบนฐานแนวคิดการ “ต่อยอดอดีต” โดยใช้ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อัตลักษณ์ไทย ทุนทางวัฒนธรรม ความหลายหลายทางชีวภาพ ทุนทางความคิดสร้างสรรค์ นำมาประยุกต์ผสมผสานกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัล เพื่อ “ปรับปัจจุบัน” สู่เศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ยกระดับภาคการผลิตและบริการที่เป็นฐานรายได้เดิมและอนาคตใหม่ที่สร้างรายได้สูง และ “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการสร้างและเพิ่มศักยภาพนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลางและลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศได้ในคราวเดียวกัน
ร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ภาคการเกษตร จะมุ่งสู่ การเป็น ภาคการเกษตร มุ่งสู่ การเป็น “มหาอำนาจทางการเกษตร” โดยมุ่งเน้นให้คนในภาคเกษตรที่มีกว่า 25 ล้านคน หรือร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับประชากรทั้่งประเทศในปี 2558 มีรายได้สูงและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไทยถือเป็นผู้เล่นสำคัญด้านการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรในเวทีโลก ด้วยพื้นฐานทางพืชเขตร้อนและข้อได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถต่อยอดโครงสร้างธุรกิจการเกษตรด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นเกษตรคุณภาพสูง และขับเคลื่อนการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น
ด้านอุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาสู่ “อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต” พร้อมรับมือและสร้างโอกาสจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มุ่งสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ บริการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ พร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจีสติกส์ไปสู่รูปแบบใหม่ รวมถึงพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ
ด้านการท่องเที่ยว มุ่งเน้นให้ประเทศไทย “เป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก” โดยรักษาการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวระดับโลก มุ่งพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น ด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทย และใช้ประโยชน์จากข้อมูลและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและเมือง รวมทั้งแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีถึงร้อยละ 11 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมผ่านการสร้างและพัฒนาสินค้าและบริการ ได้แก่ อาหารไทย ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ ผ้าไทย และการออกแบบตามสมัยนิยม เทศกาล ประเพณี และความเชื่อ ศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นต้น
ด้านการเชื่อมโยง มุ่งสู่ “เชื่อมไทย เชื่อมโลก” ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนและเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของภูมิภาคเอเชีย(Asia’s super corridor) ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ จากเอเชียตะวันออกถึงเอเชียใต้โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคมให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย
ด้านสร้างผู้ประกอบการ มุ่งสู่ “สร้างนักรบเศรษฐกิจยุคใหม่” ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ กลาง เล็ก วิสาหกิจเริ่มต้น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม รวมทั้งเกษตรกร ให้เป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะ ที่มีทักษะและจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในกาารแข่งขันที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน-สำนักข่าวไทย