ทำเนียบฯ 17 ธ.ค. – บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี ขยายเวลาส่งเสริมสิ้นปี 62 ครอบคลุมทุกประเภท และขยายสิทธิยกเว้นภาษีร้อยละ 200 ของเงินลงทุน กัดฟันมั่นใจเอกชนขอรับบีโอไอ 600,000 ล้านบาท เดินหน้าหนุนอุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายลงทุนในเขต EEC
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุม บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (เอสเอ็มอี) ขยายเวลาจากเดิมครบกำหนดวันที่ 30 ธันวาคม 2560 ขยายถึงสิ้นปี 2562 โดยปรับปรุงเงื่อนไขให้ครอบคลุมเกือบทุกประเภทกิจการ 100 ประเภท จากเดิมกำหนดไว้ 40 ประเภทกิจการ พร้อมทั้งให้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขเป็นกรณีพิเศษให้แก่กิจการเอสเอ็มอีบางประเภท
โดยเพิ่มวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเกณฑ์ปกติร้อยละ 100 เป็นร้อยละ 200 หรือยกเว้นภาษีได้ 2 เท่าของเงินลงทุนมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีขั้นสูง การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ หากมีค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะยืดเวลายกเว้นภาษีเพิ่มอีก 1 ปี หากเป็นประเภทกิจการในกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มอีก 5 ปี และหากเอสเอ็มอีที่ได้รับส่งเสริมสามารถนำเครื่องจักรมือ 2 ในประเทศมายื่นขอรับการส่งเสริมบางส่วนมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ทั้งหมดตามเงื่อนไขเดิม
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบ “เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ” ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi ) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand หรือ EECd) ในส่วนของ EECi ได้กำหนดประเภทกิจการเป้าหมาย 6 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำหนดไว้ ประกอบด้วย 1.เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 2. แบตเตอรี่-ประสิทธิภาพสูงและยานยนต์สมัยใหม่ 3. การบินและอวกาศ 4. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 5. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 6. เครื่องมือแพทย์ เช่น กิจการบริการออกแบบทางวิศวกรรม กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ กิจการประกอบหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์อัตโนมัติ การผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง
สำหรับกิจการเป้าหมายในเขต EECd ที่ประชุมมุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนา Digital Technology กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูง สำหรับกิจการที่ตั้งในพื้นที่ EECi และ EECd จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ (รวมสิทธิประโยชน์เดิมเกิน 8 ปีได้) และลดหย่อนอีกร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยต้องดำเนินการตามเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรตามที่กำหนด เพิ่มรูปแบบความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ EEC โดยต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยหรือศูนย์ความเป็นเลิศร่วมกับภาคเอกชนจัดทำหลักสูตร การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่นักศึกษา เช่น ค่าเล่าเรียน เงินเดือนนักศึกษา การฝึกงานและการรับนักศึกษาเข้าทำงานหลังสอบผ่านหลักสูตรของโครงการด้วย
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีเอสเอ็มอียื่นขอรับการส่งเสริม 48 โครงการ เงินลงทุน 1,738 ล้านบาท การส่งเสริมในเขต EEC มียอดขอรับส่งเสริม 104,164 ล้านบาท 229 โครงการ ขณะที่การลงทุนโดยรวมยื่นของรับบีโอไอ 376,000 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งหมด 600,000 ล้านบาท บีโอไอมองว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย เพราะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของเอกชนจะใช้เวลาศึกษาและมักเสนอขอรับการส่งเสริมช่วงท้ายปี เพื่อเสนอบอร์ดบีโอไอเดือนมกราคมปีหน้า ส่วนการลงทุนจริงหลังจากได้รับส่งเสริมลงทุน มองว่าสิทธิบัตรที่ขอไว้ 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มลงทุนจริงเป็นที่น่าพอใจ ทั้งการซื้อที่ดิน เครื่องจักรใหม่ เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น. – สำนักข่าวไทย