กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – ออมสินจับมือ 16 สถาบันอุดมศึกษา ผุดโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” พร้อมเปิด “มหาวิทยาลัยประชาชน” จัดหาอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย สร้างห้องเรียนภูมิปัญญาแห่งท้องถิ่น มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากช่วยเหลือสังคม
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยประชาชน” ว่า ปัจจุบันมีผู้มีรายได้น้อยในประเทศมากกว่า 30 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรทำเกษตรแบบดั้งเดิม เช่น ปลูกข้าว ทำนา ทำไร่ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ยังไม่แข็งแกร่ง เนื่องจากแรงงานทักษะต่ำขาดแคลนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ส่งผลให้มีความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงขึ้นและอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 จากประชากรทั้งหมดของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยจะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว
นายชาติชาย กล่าวว่า ธนาคารออมสินมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน จึงนำนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง เข้าไปเรียนรู้กับชาวบ้าน เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงการคลังมุ่งหวังให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงวัย รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มรับสวัสดิการรัฐที่ยังมีความสามารถประกอบอาชีพเข้าถึงแหล่งทุนอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้เสร็จเร็ว ๆ นี้และเปิดให้บริการ โดยจะเน้นสินเชื่อดอกเบี้ยแบบผ่อนปรน พร้อมฝึกอบรมสร้างอาชีพ รวมถึงการจัดหาอาชีพแบบแฟรนไชส์ ฟู้ดทรัค และร้านค้าริมทางหรือสตรีทฟู้ดให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านการขอสินเชื่อของธนาคารออมสินในการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพ สร้างรายได้พิเศษ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นปี 2560-2561 “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ระหว่างธนาคารออมสิน กับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สำหรับโครงการ “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” ธนาคารฯ จะร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ลงพื้นที่ศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาความรู้ทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย จัดการด้านทรัพยากร รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ และตราสินค้า พัฒนากระบวนการผลิต ทำแผนการเงิน และจัดทำบัญชี การจัดการราคา และความสามารถในการทำกำไร การจัดการการตลาด และการจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการโอทอป องค์กรชุมชน กลุ่มอาชีพในชุมชน ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ และอื่น ๆ ซึ่งจะมีการนำความรู้มาบูรณาการกับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกกับกระบวนการต่าง ๆ ที่ธนาคารออมสินจะดำเนินการสนับสนุนการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก จะเข้ามาสนับสนุนให้กระบวนการสร้างอาชีพตามนโยบายรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เพราะประชาชนจะได้พัฒนาอาชีพควบคู่ไปกับการเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลให้การค้าขายในอาชีพของตนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากการพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ธนาคารออมสินได้ริเริ่มขับเคลื่อนโครงการ “มหาวิทยาลัยประชาชน” ในการสร้างโอกาส เพิ่มพูนความรู้ และทักษะที่จำเป็นด้านอาชีพ เพิ่มรายได้ และความรอบรู้ในการดำรงชีวิต ด้วยองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย โดยที่กระบวนการแหล่งทุนจากธนาคารออมสินจะช่วยเติมเต็มให้การประกอบอาชีพเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยวินัยทางการเงินที่มีศักยภาพ ทำให้การดำรงชีพของประชาชนได้รับการยกระดับอย่างชัดเจนด้วยกลไกนี้ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางสังคมของคนไทยตลอดไป
ผอ.ออมสิน กล่าวว่า ธนาคารเตรียมเสนอกระทรวงการคลังพิจารณามาตรการช่วยผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุที่ผ่านการอบรมแล้ว เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกับธนาคารออมสิน 3 ล้านคน ขณะนี้ธนาคารออมสินจัดทีมเพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยและดูแลหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ แยกจากส่วนงานอื่น ๆ เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินงาน.-สำนักข่าวไทย