กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – ไทย-ญี่ปุ่นร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านความร่วมมือในระดับท้องถิ่นระหว่างประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาท้องถิ่นของทั้งสองชาติ ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 130 ปี
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับทางการจังหวัดมิเอะ มหาวิทยาลัยมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น และกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานสัมมนานานาชาติเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่น” เนื่องในโอกาสครบรอบ 130 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยมีบุคคลและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านความร่วมมือและแลกเปลี่ยนในระดับท้องถิ่น รวมทั้งนักวิชาการจากญี่ปุ่นและไทย มาร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ
ผู้ร่วมเสวนามีความเห็นสอดคล้องกันว่า โครงสร้างการปกครองของญี่ปุ่น มักให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่รัฐบาลท้องถิ่น ในการบริหารจัดการในเขตพื้นที่ รัฐบาลท้องถิ่นจึงมีบทบาทในการริเริ่มโครงการความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศด้วยตนเอง โดยคู่ขนานไปกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลกลางได้ ด้วย นอกจากนี้แต่ละท้องถิ่นของญี่ปุ่นยังมีลักษณะเฉพาะตัวสูง ทางการจึงสามารถมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ส่งผลให้ท้องถิ่นได้รับประโยชน์เต็มที่
ในขณะที่การดำเนินงานของทางการท้องถิ่นไทยด้านความร่วมมือกับท้องถิ่นต่างประเทศ มีอุปสรรคสำคัญ คือ ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย สืบเนื่องจากการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำ อีกทั้งโครงสร้างการปกครองของไทย เน้นการรวมศูนย์อำนาจ ไว้ที่รัฐบาลกลาง ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นไม่มีอำนาจดำเนินงานอย่างเต็มที่ และต้องผ่านกระบวนการยุ่งยากล่าช้า นอกจากนี้ยังไม่มีหน่วยงานที่สนับสนุนความร่วมมือกับท้องถิ่นต่างประเทศโดยตรงอย่างญี่ปุ่น และรัฐบาลท้องถิ่นยังมีความสนใจจะร่วมมือกับต่างประเทศน้อย จึงนับเป็นความท้าทายที่ทางการท้องถิ่นไทยจะต้องก้าวข้ามให้ได้ และญี่ปุ่นก็นับเป็นแบบอย่างที่ดีที่ไทยสามารถศึกษา
ทางด้านนายเออิเกะ ซูซูกิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับแบบอย่างความสำเร็จในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับท้องถิ่นของจังหวัดมิเอะ ว่าทางจังหวัดอาศัยความร่วมมือบูรณาการระหว่าง 3 ภาคส่วนหลักประกอบด้วยภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจังหวัดมิเอะกำลังมีความโดดเด่นอย่างมาก รวมทั้งภาคการศึกษา อันเป็นคลังผลิตความรู้สำคัญ และยังช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดรับกับการพัฒนาความร่วมมือต่อไปด้วย.-สำนักข่าวไทย