รพ.ศิริราช 16 พ.ย.- ทีมนักวิจัยสหรัฐอเมริกา ได้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี60ทั้งสองสาขา โครงการจีโนมมนุษย์ได้สาขาการแพทย์ ส่วนสาขาสาธารณสุขมอบให้ทีมนักวิจัย ผู้ผลิตวัคซีนฮิบป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก
นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล นายกลิน ที เดวี่ส์เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2560
สาขาการแพทย์ ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มอบให้กับโครงการไม่ใช่บุคคล คือโครงการจีโนมมนุษย์ (The Human Genome Project) จากประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยโครงการจีโนมมนุษย์เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีส่วนสำคัญในความก้าวหน้าทางความรู้ที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์และรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ โครงการนี้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2533 โดยสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ในสังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติประเทศสหรัฐอเมริกา มีภารกิจสำคัญในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์ซึ่งเป็นกลไกในการกำกับและควบคุมกระบวนการของสิ่งมีชีวิตในทุกขั้นตอน ช่วยให้เข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์และอวัยวะต่างๆกลไกการกลายพันธุ์และกลไกการเกิดโรค ความรู้จากการศึกษาจีโนมมนุษย์รวมถึงการถอดรหัสพันธุกรรมก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์หลายด้าน ทั้งการวินิจฉัยโรคพันธุกรรมที่พบน้อยและถ่ายทอดในครอบครัวรวมถึงโรคที่พบบ่อยเช่นมะเร็ง โรคติดเชื้อ ทั้งยังช่วยให้เกิดการพัฒนายารักษาโรคที่มีความแม่นยำ โครงการจีโนมมนุษย์ถือเป็น ความสำเร็จ ก่อประโยชน์มหาศาลต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกอย่างชัดเจน
ส่วนสาขาการสาธารณสุขผู้ได้รับพระราชทานรางวัล คือศาสตราจารย์ พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์(Prof.Porter W. Anderson ,Jr.) นายแพทย์จอห์นบี รอบบินส์ Dr.John B.Robbins)แพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน (Dr.Rachel Schneerson) ศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม(Prof. Mathuram Santosham) จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้ง4ท่านเป็นนักวิจัย2กลุ่ม ที่ได้ศึกษาวิจัยแบบคู่ขนานเกี่ยวกับกลไก การเกิดโรคและการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ ฮีโมฟิเลีย อิน ฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือเรียกสั้นๆว่าฮิบ (hib) ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญที่ก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก โดยเฉพาะต่ำกว่า5ปี มีอัตราตายสูง หากรอดชีวิตอาจเกิดความพิการอย่างถาวรได้ วัคซีนชนิดแรกที่ผลิตขึ้นเป็นวัคซีนชนิดโพลี่แซคคาไรด์ หรือโมเลกุลน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบในแคปซูลของเชื้อ ซึ่งวัคซีนโพลี่แซคคาไรด์ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 18 เดือนซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดได้ จึงมีการปรับปรุงโดยนำโมเลกุลโปรตีนมาเชื่อมต่อกับน้ำตาลพบว่าทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นมากเรียกวัคซีนชนิดใหม่นี้ว่าวัคซีนฮิปชนิดคอนจูเกต ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ได้มีการส่งเสริมให้ฉีดเป็นซีนพื้นฐานในเด็กพื้นฐาน ในเด็กเล็กกว่า 190 ประเทศ
ทำให้อัตราการเกิดโรคและการตายจากเชื้อฮิบในเด็กลดลงกว่าร้อยละ 95 ถึง 99 ประมาณการว่าภายในปี 2563 จะมีเด็กกว่า 7ล้านคนที่รอดชีวิตจากเชื้อฮิบนี้ เนื่องมาจากได้รับวัคซีนนี้ สำหรับประเทศไทยจะบรรจุวัคซีนฮิบเป็นวัคซีนพื้นฐานในปีหน้า
ทั้งนี้มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2560 ทั้งสิ้น 45 รายจาก 27 ประเทศ
โดยตลอดระยะเวลา 26ปีที่ผ่านมามีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 74 ราย ในจำนวนนี้มีผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลต่อมาได้รับรางวัลโนเบลรวม4ราย
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปีแห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษย์สยาชาติ ด้านการแพทย์หนึ่งรางวัลและการสาธารณสุขหนึ่งรางวัลเป็นประจำทุกปีตลอดมาแต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัลประกาศษณียบัตรและเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
ปีนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2560 ในวันพุธที่ 31 มกราคม 2561ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
โดยวันอังคารที่ 30 มกราคม 2561 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียนติ จะเชิญผู้รับประทานรางวัลมาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย.-สำนักข่าวไทย