กรุงเทพฯ 21 ต.ค. – เงินบาททยอยอ่อนค่า คาดสัปดาห์หน้า 33.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาประธานเฟดคนใหม่
ธนาคารกสิกรไทย รายงานสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-20 ต.ค.) เงินบาททยอยอ่อนค่า ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐขยับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ประกอบกับมีแรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์จากรายงานข่าวที่ระบุว่าวุฒิสภาสหรัฐฯ ให้การรับรองงบประมาณปี 2561 ซึ่งตลาดมองว่าอาจเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการเดินหน้าแผนปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน โดยวันที่ 20 ตุลาคม เงินบาทอยู่ที่ 33.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 12 ตุลาคม
สำหรับสัปดาห์หน้า (24-27 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวเงินบาท 33.00-33.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่สัญญาณที่อาจบ่งชี้ถึงสะท้อนผลสรุปของผู้ที่จะมาเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คนใหม่ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ (ขั้นต้น) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน สตอกสินค้าภาคค้าส่งเดือนกันยายน และตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 3/2560 นอกจากนี้ ตลาดอาจรอจับตาผลการเลือกตั้งในญี่ปุ่น ประเด็นจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปด้วยเช่นกัน
ด้านดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลงตามแรงขายของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,692.58 ลดลงร้อยละ 1.16 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงประมาณร้อยละ 0.93 จากสัปดาห์ก่อนมาที่ 67,506.96 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอปิดที่ 564.54 จุด ลดลง ร้อยละ 0.92 จากสัปดาห์ก่อน
สำหรับสัปดาห์หน้า (24-27 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,680 และ 1,670 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,720 และ 1,730 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสำหรับไตรมาส 3/2560 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐสำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2560 ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนกันยายน และดัชนี PMI Composite (เบื้องต้น) เดือนตุลาคม ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ จีดีพีของอังกฤษและดัชนี PMI (เบื้องต้น) ของประเทศแถบยุโรป.-สำนักข่าวไทย