15 ก.พ. – กรมที่ดิน เผยผลการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ไขข้อข้องใจ ที่ดิน ส.ป.ก. สามารถออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่
การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินยังไม่มีผลให้ ส.ป.ก. ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินจนกว่า ส.ป.ก. มีความประสงค์จะนำที่ดินมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินและในกรณีที่เป็นที่ดินของรัฐ ส.ป.ก. ต้องดำเนินการตามมาตรา 26 วรรคหนึ่ง (1),(2),(3) หรือ (4) หรือ หากจะนำที่ดินของเอกชนมาดำเนินการ ก็ต้องจัดซื้อหรือเวนคืนตามมาตรา 29 เสียก่อน ส.ป.ก. จึงจะนำที่ดินนั้นมาดำเนินการการปฏิรูปที่ดิน
การออกโฉนดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นที่ดินที่มีการสงวนหวงห้ามและต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2597 ข้อ 14 (4) และคณะกรรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นในเรื่องเสร็จที่ 781/2535 และเรื่องเสร็จที่ 207/2537 ว่าเมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ราษฎรที่ครอบครองและทำประโยชน์อยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับไมได้ ถ้าราษฎรดังกล่าวไม่ได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 หรือมิได้แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไว้ก่อนมีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ดังนั้น เจ้าของที่ดินที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและมีหลักฐานเดิมอยู่ก่อนการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินมีหน้าที่ต้องพิสูจน์สิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดิน และการออกโฉนดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2537) ฯ ข้อ 14 “ที่ดิน จะออกโฉนดที่ดินต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย
ปัจจุบันการออกโฉนดที่ดินนอกจากต้องถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องถือปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เรื่อง วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2558 .-314-สำนักข่าวไทย