15 ก.พ. – ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยประชาชน พบเว็บไซต์หลอกจองโรงแรม โอนแล้วไม่ได้พัก ถูกบล็อกหนี เร่งประสานต่างประเทศปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว
วันนี้ (15 ม.ค.68) เวลา 14.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. แถลงข่าวเตือนภัยเว็บไซต์ siamstaycollections.com เว็บอันตรายหลอกให้จองที่พัก โอนเงินแล้วบล็อกหนี
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุว่า ได้มีประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ เว็บไซต์wwww.thaipoliceonline.go.th หลังผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพที่สร้างเพจ หรือเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคในการจองที่พัก วิธีการคือจะขอให้ผู้เสียหายโอนเงินมัดจำค่าที่พักล่วงหน้าให้ก่อน หลังผู้เสียหายโอนไปแล้วก็จะถูกเว็บไซต์หรือเพจดังกล่าวบล็อก ไม่สามารถติดต่อได้
ซึ่งตอนนี้มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความแล้วจำนวนหนึ่ง แต่เชื่อว่ายังมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่ได้รับความเสียหาย ตำรวจไซเบอร์ได้จับกุมผู้ถือบัญชีม้า ได้ 2 บัญชี คนที่ถือครองบัญชีม้านั้นเป็นคนไทย หลังจากนี้จะต้องมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลต่อไป แต่จากการตรวจสอบพบว่าผู้ให้บริการเว็บไซต์และเพจดังกล่าวไม่ได้อยู่ในประเทศ ทางตำรวจไซเบอร์ได้ทำการเสนอปิดกั้นไปยังผู้ให้บริการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังพบว่ายังมีการเปิดใช้งานอยู่
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ระบุว่า ช่วงนี้ก็ยังถือว่าเป็นช่วงเทศกาลการท่องเที่ยวของประเทศไทยอยู่ และมิจฉาชีพมักจะเลือกที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในหลายจังหวัด เช่น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นต้น จึงอยากประชาสัมพันธ์พี่น้องประชาชนว่าหากจะจองที่พักให้ทำตามเก้าข้อเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง
- สำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking.com, Agoda, Traveloka หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง
- หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่ เพจใดคือเพจจริง
- เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
- โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงิน ว่าเพจที่พักถูกต้องหรือไม่ เลขบัญชีถูกต้องหรือไม่
- เพจเฟซบุ๊กจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหารูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการรีวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริง
- เพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน
- ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง
- ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด
- หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีที่รับโอนควรเป็นบัญชีชื่อที่พัก หรือบัญชีชื่อบริษัท
- ต้องตรวจสอบหมายเลขบัญชีทุกครั้งว่ามีประวัติการหลอกลวงหรือไม่ ผ่านแอปพลิเคชัน Cyber CHECK .-420-สำนักข่าวไทย