กรุงเทพฯ 13 ก.พ. – การส่งออกไทยปี 2568 ยังขยายตัวได้ ท่ามกลางคลื่นความเสี่ยงจาก “ทรัมป์ 2.0” โดย EXIM BANK คาดส่งออกไทย ปี 2568 ขยายตัว 2-3%
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ หรือที่เรียกว่า ยุคทรัมป์ 2.0 ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างประเทศ ตลอดจนผลกระทบต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะยังไปต่อได้ ปัจจัยเกื้อหนุน ประกอบด้วย การท่องเที่ยว การใช้จ่ายของภาครัฐ การบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ สงครามการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าตามนโยบายทรัมป์ 2.0 หนี้ครัวเรือนยังสูงถึง 89% และภาคการผลิตยังฟื้นตัวไม่ทันในปีที่ผ่านมา
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ปัจจัยส่งเสริมให้การส่งออกไทยปี 2568 ยังขยายตัวต่อได้ ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกและนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ การเร่งนำเข้าของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โอกาสส่งออกของไทยทดแทนสินค้าจีน อาทิ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ แผงโซลาร์ โอกาสส่งออกสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดโลกเช่น สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าไลฟ์สไตล์ การย้ายฐานการผลิตจากต่างชาติเข้ามาในไทย เช่น ธุรกิจดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ไฟฟ้า การขยายตัวของตลาดใหม่ เช่น อินเดีย อาเซียน และตะวันออกกลาง และการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) เป็นข้อตกลง FTA ฉบับแรกระหว่างไทยกับประเทศในยุโรป (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ขณะเดียวกัน ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ สินค้าไทยอาจโดนมาตรการจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯ สูง เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โทรศัพท์ เครื่องจักร หรือถูกบังคับให้นำเข้าเพิ่ม อาทิ สินค้าเกษตร น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สินค้าไทยที่อยู่ใน Supply Chain จีนได้รับผลกระทบ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา สินค้าไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนที่ไหลทะลักเข้าสู่ไทยและตลาดโลก อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ ความผันผวนด้านต้นทุนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และค่าเงินที่ยังผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาทุกองค์ประกอบดังกล่าวแล้ว EXIM BANK คาดส่งออกไทย ปี 2568 ขยายตัว 2-3%
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/13/1488354/1739428126_387658-tnamcot-1024x768.jpg)
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/13/1488354/1739428126_387157-tnamcot-1024x768.jpg)
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา EXIM BANK มีบทบาทอย่างแข็งขันในการสนับสนุน Climate Finance ของไทย และ EXIM BANK จะเดินหน้าต่อยอดความเชี่ยวชาญในฐานะ Green Development Bank เป็นผู้นำผู้ประกอบการไทยสยายปีกสู่ธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยให้เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ส่งผลให้ Portfolio ที่สนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance : ESG) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนแตะระดับ 40% ของ Portfolio ทั้งหมด และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี 2570
นายรักษ์ กล่าวว่า ปี 2568 EXIM BANK มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไทยผ่านความเชี่ยวชาญและพันธมิตรสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bank) โดยจะเร่งขยายฐานลูกค้าผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งด้านการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุน เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานส่งออกสีเขียว (Green Export Supply Chain) โดยให้สิทธิประโยชน์และดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG บริการใหม่ของ EXIM BANK อาทิ บริการค้ำประกันหุ้นกู้ให้แก่ลูกค้าที่ต้องการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ แต่ยังมี Credit Rating ที่ไม่สูงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนสนใจและเชื่อมั่นที่จะลงทุนได้ โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อทำให้ Credit Rating ของหุ้นกู้อยู่ในระดับเทียบเท่ากับของ EXIM BANK คือ AAA (กรณีค้ำประกัน 100%) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น มีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำ ผู้ออกหุ้นกู้มี Cost Saving เมื่อเทียบกับการออกหุ้นกู้ด้วย Credit Rating ของตนเอง ซึ่งช่วยให้สามารถออกหุ้นกู้ได้อายุยาวขึ้นและจำนวนที่มากขึ้น รวมถึงสามารถมีฐานผู้ลงทุนเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันได้ นอกจากนี้ EXIM BANK ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้หรือตราสารทุน รวมถึงการเข้าซื้อกิจการการควบรวมกิจการ (M&A) เป็นต้น. -513-สำนักข่าวไทย