รัฐสภา 2 ต.ค.- ประธาน กมธ.พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ยืนยัน ไม่เก็บภาษีค่าน้ำจากเกษตรกรรายย่อย ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่จะพิจารณาเก็บค่าใช้น้ำของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยให้กรมทรัพยากรน้ำ ร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์รายละเอียดให้ชัดเจน และเสนอกลับมายังกรรมาธิการฯ อีกครั้ง
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงชี้แจงถึงกระแสข่าวที่รัฐบาลจะจัดเก็บภาษีการใช้น้ำจากเกษตรกรจากร่างกฎหมายฉบับนี้ ว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ รัฐบาลไม่มีแนวคิดเก็บภาษีค่าน้ำ เพราะ กรรมาธิการฯ ยังไม่ได้ข้อสรุปต่อเรื่องดังกล่าว จึงขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก กรรมาธิการฯ จะพิจารณาเนื้อหาด้วยความรอบคอบ ไม่เพิ่มภาระให้แก่ประชาชน จะต้องมีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน การประกอบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมทั้งต้องมีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ประเด็นที่เป็นข่าวไปว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีค่าน้ำ ขอชี้แจงว่า ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และกรรมาธิการ ไม่ได้มีความคิดเก็บภาษีค่าน้ำ คำว่าภาษีค่าน้ำไม่มี เพียงแต่พูดถึงเรื่องค่าใช้น้ำ ตาม พ.ร.บ.ชลประทานหลวง 2485 ก็ได้ระบุไว้ การใช้น้ำ เรียกว่าค่าชลประทาน อันนี้เรียกว่า ค่าใช้น้ำเท่านั้นเอง ส่วนใครบ้างที่ต้องเข้าข่ายที่ต้องเสียค่าใช้น้ำ ในร่าง พ.ร.บ. แบ่งเป็น น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำในการดำรงชีพ น้ำเพื่อการเกษตรเพื่อการยังชีพ เลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ อุตสาหกรรมในครัวเรือน และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อย ประเภทนี้ไม่จัดเก็บค่าใช้น้ำ อีกประเภท ได้แก่ประเภทที่ใช้น้ำมากกว่าประเภทแรก เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว โรงแรม สนามกอล์ฟ โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถ้าไปเอาน้ำสาธารณะมาใช้ก็จะต้องจ่ายค่าน้ำ อันนี้เป็นเรื่องของความเป็นธรรม แต่ที่เป็นปัญหา คือ ร่างฉบับนี้ที่เสนอขึ้นมาให้พิจารณา บอกว่า การใช้น้ำเกษตรและปศุสัตว์เชิงพาณิชย์ ตรงนี้เป็นประเด็นปัญหาที่กรรมาธิการพิจารณาอยู่ และได้สอบถามกรมทรัพยากรน้ำ ว่าหมายความว่าอย่างไรเกษตรชาวนาปลูกข้าวใช้บริโภคทั้งปี ที่เหลือนำไปจำหน่ายหารายได้มายังชีพ อันนี้เป็นเชิงพาณิชย์หรือไม่ ก็ตอบกันไม่ได้ ชาวบ้านเลี้ยงสุกร โค ใช้ไถนาด้วยและนำไปขาย กลายเป็นเชิงพาณิชย์ทันที ตรงนี้จะตัดสินอย่างไร” พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว
ประธาน กมธ. กล่าวว่า จากความไม่ชัดเจนในประเด็นการจัดเก็บค่าใช้น้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ทางกรรมาธิการ จึงให้กรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับไปร่างกฎกระทรวง เกี่ยวกับความชัดเจนต่าง ๆ ว่าจะมีจุดแบ่งกันอย่างไร ทั้งเกษตรกรรายย่อยและเกษตรเชิงพาณิชย์ รวมถึงข้อกำหนดการจัดเก็บ และเสนอกลับมายังกรรมาธิการอีกครั้ง โดยขณะนี้กรรมาธิการได้ข้ามการพิจารณาในมาตราที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ไปก่อน และไปพิจารณาในมาตราอื่น ให้ครบ 100 มาตรา และจะกลับมาพิจารณาในมาตราดังกล่าวใหม่ ทั้งนี้จากเดิมกรรมาธิการฯ มีกำหนดสิ้นสุดการพิจารณาในวันที่ 27 ตุลาคมนี้ แต่ยังมีประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปอีกหลายมาตรา กรรมาธิการฯ จึงได้มีมติขอขยายระยะเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ออกไปเป็นกรณีพิเศษอีก 90 วัน โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 25 มกราคม 2561
พล.อ. อกนิษฐ์ กล่าวว่า กรรมาธิการให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นจากประชาชน จึงจะเปิดให้ประชาชนส่งความเห็นต่างๆ มายังกรรมาธิการ รวมถึงจะมีการลงพื้นที่รับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา และจากการสอบถาม และเก็บข้อมูลจากประชาชนเบื้องต้น ไม่มีผู้เห็นด้วยกับการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรรายย่อย ส่วนเกษตรกรที่ประกอบการเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะต้องมีการพิจารณาให้เกิดความเหมาะสมต่อไป
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ กรรมาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการเรื่องนี้ คือหากเป็นค่าน้ำในเขตชลประทานก็ใช้กฎหมายชลประทานที่มีอยู่ ไม่เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้จะพิจารณาพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน นอกเขตน้ำบาดาลและนอกเขตน้ำประปา ฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้จะดูน้ำสาธารณะทั่วไป เช่น แม่น้ำ ธารน้ำสาธารณะ ซึ่งยืนยันว่า การใช้น้ำในเขตชลประทานกับกฎหมายนี้ไม่ซ้ำซ้อนกัน .-สำนักข่าวไทย