กรุงเทพฯ 27 ธ.ค. – ธปท.คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะยังคงมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่วนสภาวะทางเศรษฐกิจในเดือน พ.ย. ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนลดลง
นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งพบว่าเศรษฐกิจไทยชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนลดลง หลังจากที่เร่งขึ้นจากผลของมาตรการเงินโอนภาครัฐ สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากเดือนก่อน แต่ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้และการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามหมวดพลังงาน จากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดลดลงตามราคาผักเนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย
สำหรับภาวะตลาดแรงงานโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการจ้างงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเพิ่มขึ้นในหลายสัญชาติโดยเฉพาะ อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลงชั่วคราวจากผลของน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ของไทย สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงหลังจากเร่งไปในช่วงก่อน ประกอบกับในเดือนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงปรับลดลง ส่วนการจ้างงานในภาคการค้ารถยนต์และการผลิตวัสดุก่อสร้างปรับลดลง
มูลค่าการส่งออกสินค้า ไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากหมวดยานยนต์และสินค้าเกษตรแปรรูปเป็นสำคัญ โดยหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นตามการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปออสเตรเลียและอาเซียน รวมถึงการส่งออกยางล้อไปสหรัฐอเมริกา สำหรับหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นตามการส่งออกยางสังเคราะห์ไปจีนเป็นสำคัญ แต่การส่งออกไปสหรัฐอเมริกาในหลายสินค้าลดลงได้แก่ เครื่องจักรและเครื่องอุปกรณ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลจากการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดโดยสหรัฐอเมริกา
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำลดลงจากเดือนก่อนในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลง ตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคและบริโภคลดลงเช่นกัน หลังจากเร่งไปในเดือนก่อน โดยสินค้าคงทนลดลงตามการนำเข้าโทรศัพท์จากจีน ขณะที่สินค้าไม่คงทนลดลงตามการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม โดยหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากจีนเป็นสำคัญ
นางปราณี กล่าวถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงจากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ล่าช้า โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวเล็กน้อย ตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมเป็นสำคัญ
ด้านดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวด อาหารและเครื่องดื่มตามน้ำตาล หลังจากได้เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และอาหารสัตว์สำเร็จรูปที่สินค้าคง คลังอยู่ในระดับสูงและหมวดยานยนต์ จากทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ อย่างไรก็ดี การผลิตบาง หมวดปรับเพิ่มขึ้นบ้าง อาทิ ปิโตรเลียม และแผงวงจรรวม
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่กลับมา สมดุล จากดุลบริการภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าที่ลดลง ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกช่องทาง โดยการระดมทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นจากธุรกิจกลุ่มโฮลดิ้งและภาคการผลิต ขณะที่ตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจในภาคบริการและก่อสร้างเป็นสำคัญ รวมถึงตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจในภาคบริการเพื่อขยายกิจการ
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เฉลี่ยอ่อนค่าลง ตามความไม่แน่นอนของขนาดการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกอบกับตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการค้าและการท่องเที่ยวของไทย
ธปท. มองแนวโน้มระยะต่อไปว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและการแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง โดยสิ่งที่จะต้องติดตามคือ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะจัดทำหลายมาตรการ. -512 – สำนักข่าวไทย