กรุงเทพฯ 4 ธ.ค. – แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ฝากนายกฯ ทบทวนแผนไฟฟ้าระยะยาว เสี่ยงค่าไฟแพง ชี้ไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซภาคตะวันตกเอกชนบางรายได้ประโยชน์ การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ควรจะระบบเปิดเสรี ให้ความเสี่ยงอยู่ที่เอกชนไม่ใช่เป็นภาระต่อผู้บริโภค
แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือ ERS พร้อมเทคโนแครตด้านพลังงาน นำโดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, ดร.คุรุจิต นาครทรรพ, ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ร่วมกันแถลงข่าวส่งสัญญาณถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่ารัฐบาลควรแก้ไขปรับปรุงร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 หรือ PDP2024 เพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าในอนาคต ไม่เป็นภาระต่อประชาชนและผู้ประกอบการเพราะหากยังคงใช้ตามร่างแผนที่กระทรวงพลังงานศึกษาไว้ต้นทุนจะพุ่งขึ้นมาก เพราะจะมีโรงไฟฟ้าใหม่เกินจำเป็น โดยปลายแผนร่างพีดีพีใหม่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 1 แสน 1 หมื่นเมกะวัตต์ เพิ่มกว่าปัจจุบันกว่าเท่าตัว จึงควรทบทวนการประมาณการณ์ความต้องการไฟฟ้าของไทยการลงทุนรับซื้อโรงไฟฟ้าใหม่มากเกินความจำเป็น จะเป็นต้นทุนแฝงที่จะเป็นภาระต่อผู้บริโภค ซึ่งเห็นด้วยกับภาครัฐที่ต้องส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มกำลังผลิตพลังงานทดแทน แต่ราคาต้องเหมาะสมและมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ ควรเปิดเสรีรับซื้อไฟฟ้าไม่ควรมีข้อกำหนดส่วนเพิ่มราคาใดใด เปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐและเอกชนแข่งขันเสนอขาย ไม่ควรเป็นลักษณะของสัญญาซื้อขายระยะยาว (PPA) เช่นในปัจจุบัน ความเสี่ยงทั้งหมดจะอยู่ที่ผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งจากที่ต้นทุนผลิตพลังงานทดแทนต่ำลง จึงควรกำหนดให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังลมต้องพ่วงการติดตั้งแบตเตอรี่หรือระบบจัดเก็บพลังงานเข้าไปด้วย อาทิ มีการประมูลราคาก่อนทำสัญญาซื้อขาย สัญญาใหม่ต้องมีเงื่อนไขให้สามารถเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับระบบเสรีได้ และ โครงการยักษ์อย่างเช่น Digital Hub ดาต้าเซนเตอร์ จะต้องสามารถเลือกทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านระบบสายส่งได้ด้วย
ส่วนในกรณีที่ต้องสนองความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ แผน PDP2024 ควรใช้วิธีประเมินต้นทุนรวมและเปิดประมูลราคาเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ด้วย เช่น สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซที่นำเข้า LNG ในภาคใต้ หรือเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียน (รวมถึงชีวมวลและไฟฟ้าจากขยะ) ในภาคใต้ ไม่ใช่เพียงกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคตะวันตก ซึ่งทำให้เอกชนบางรายได้เปรียบ และการลงทุนสร้างสายส่งลากสายจากภาคตะวันตกไปภาคใต้ก็จะมีความสูญเสียไม่คุ้มค่า ERS ยังเห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางออกที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหากประเทศไทยจะไปให้ถึง Net Zero จึงเห็นด้วยกับ PDP2024 ที่กำหนดให้มีโรงไฟฟ้า SMR แต่ย้ำว่าต้องเตรียมการล่วงหน้าให้ครบถ้วน นอกจากนี้ไม่ควรให้ กฟผ.รับภาระค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลไม่ให้ขึ้นค่าไฟฟ้าทั้งที่ติดหนี้นับแสนล้านบาท เพราะในที่สุดก็จะต้องเป็นภาระต่อผู้บริโภคอยู่ดี
การปรับปรุงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในประเทศให้มีการแข่งขันเสรีควรเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันเสรีด้านราคาและคุณภาพบริการ ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าตรงให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าโดยใช้บริการสายส่ง และสายจำหน่ายของการไฟฟ้า (Third Party Access: TPA) โดยมีการคิดค่าบริการผ่านสายส่ง/จำหน่าย (Wheeling Charges) ที่เป็นธรรม ซึ่งในภาวะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง (Contracted Capacity) อยู่ในระดับสูง (51,000 MW เช่นในปัจจุบัน) เมื่อเทียบกับความต้องการสูงสุด (Peak Demand) ในระบบ (36,000 MW) ค่าไฟฟ้าควรที่จะลดลงตามกลไกของอุปทานอุปสงค์หากกิจการไฟฟ้ามีการแข่งขันที่เสรีทั้งนี้ในการดำเนินการจำเป็นต้องแยกระบบสายส่งไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ให้เป็นอิสระจากการผลิตไฟฟ้า และมีกลไกในการสร้างความสมดุลในระบบไฟฟ้า โดยกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ควรเป็นลักษณะของสัญญาซื้อขายระยะยาว (PPA) เช่นในปัจจุบัน ในโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเสรีที่เป็น Contestable market ซึ่งจะไม่มีการประมูลและคัดเลือกกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่แบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวอีกต่อไป โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) หรือรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนสามารถจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าได้อย่างอิสระ แต่ความเสี่ยงทั้งหมดจะอยู่ที่ผู้ผลิตไฟฟ้านั้นๆ ที่จะต้องแข่งขันกันที่อัตราค่าบริการ ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) จะเป็นผู้เลือกการผลิตที่เสนอราคาขาย (Bid Tariff) เข้ามาต่ำที่สุดในแต่ละช่วงเวลา
สำหรับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ในปลายแผน PDP2024 หรือปี พ.ศ.2580 อยู่ที่ประมาณ 51% แต่ยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศที่เสนอต่อ UNFCCC กำหนดสัดส่วนสูงถึง 68% ในปี 2583 ซึ่งหากจริงจังกับเรื่องนี้จะเห็นว่าโอกาสเพิ่มสัดส่วน 17% ใน 3 ปีน่าจะยากมาก ดังนั้นจึงควรเพิ่มสัดส่วน RE ในแผน PDP2024 อย่างมีนัยสำคัญตามแนวทางที่เสนอมาพร้อมกันนี้ อีกทั้งดำเนินการปรับระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้ทันสมัยด้วย (Grid Modernisation / Smart Grid / TPA) และควรส่งเสริมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (Floating Solar Farm) โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนของรัฐ รวมถึงพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือพื้นที่อื่นของเอกชนด้วย เพราะจะทำให้โซล่าเซลล์ผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังไม่ต้องสิ้นเปลืองที่ดินอีกด้วย. -511- สำนักข่าวไทย