ชัยภูมิ.27พ.ย.- ผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยว โคกหนองนาแห่งศรัทธา อารยเกษตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวพระราชดำริ ณ พระธาตุชัยภูมิ
พระราชมหาเจติยาภิบาล (เจ้าคุณต่อ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม ประธานผู้ก่อตั้งวัดพระธาตุชัยภูมิ พร้อมด้วย นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ผู้บริหารทุกภาคส่วนราชการ ร่วมกิจกรรม พิธีเกี่ยวข้าวนาหลวง สดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสอันเป็นมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา จากการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ณ วัดพระธาตุชัยภูมิ ตำบลเก่าย่าดี อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ที่ได้ดำเนินโครงการฯ มาจนถึงปัจจุบัน และได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคประชาชนมาโดยตลอด
ซึ่งในวันนี้เป็นพิธี “เกี่ยวข้าวนาหลวง” ด้วยการเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกจากพื้นที่ต้นแบบ เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ณ วัดพระธาตุชัยภูมิ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ในวันนี้ โครงการ ฯ ได้สร้างความสำเร็จอีกขั้น ด้วยการเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกจากพื้นที่ต้นแบบ โครงการนี้ดำเนินการภายใต้การบูรณาการ ทั้งแนวคิดโคกหนองนาอารยเกษตร และเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนและการฟื้นฟูชุมชนในท้องถิ่น
พระราชมหาเจติยาภิบาล (เจ้าคุณต่อ) ได้กล่าวถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตในครั้งนี้ว่า “การเก็บเกี่ยวข้าวไม่ใช่เพียงแค่การสิ้นสุดฤดูกาลเกษตรกรรม แต่เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และที่สำคัญยังเชื่อมโยงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เพราะแต่เดิมมาการเก็บเกี่ยวข้าวในชุมชนถือเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว หรือการเฉลิมฉลองหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ในชุมชนและอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิม”
นอกจากนั้น เมื่อถึงวันเก็บเกี่ยว ก็ทำให้ได้นึกถึงช่วงเวลาตอนที่ทำการเพาะปลูก และการดูแลให้ข้าวเติบโตไปตามระยะ ซึ่งต้องใช้เวลา และความวิริยะ อุตสาหะ พอสมควรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และที่สำคัญทำให้เกิดจิตสำนึก และความภาคภูมิใจ ที่เราได้คำนึงถึงการดูแลดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดินที่ดีต้องได้รับการบำรุง น้ำต้องสะอาด และระบบนิเวศต้องได้รับการปกป้อง เพื่อให้ธรรมชาติกลับมาตอบแทนอย่างสมดุล การดำเนินการตามแนวพระราชดำรินี้ จึงทำให้ได้เรียนรู้ และเข้าใจว่า โครงการโคกหนองนา แบบอารยเกษตร ไม่ได้เป็นเพียงแนวทางในการทำเกษตรเท่านั้น แต่ยังเป็นวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ช่วยสร้างความสมดุลทั้งในมิติทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง-612 .-สำนักข่าวไทย