รัฐสภา 4ต.ค.-“นิกร” ยังหวัง 2 สภาหาข้อยุติร่าง พ.ร.บ.ประชามติลงตัว ทันเลือก อบจ.ทั่วประเทศ ขอถอยคนละก้าว อย่าดึงดันทำประชาชนเสียโอกาสได้ รธน.ฉบับใหม่
นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่ มีข้อวิจารณ์ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนควรเร่งแก้ปัญหาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยดีกว่าว่า เรื่องปัญหาน้ำท่วมถือเป็นเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วนที่ต้องทำ แต่ขณะเดียวกันเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่ทุกพรรคการเมือง ประกาศหาเสียงเอาไว้และเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงถือเป็นเรื่องผูกพันที่ต้องทำ แต่ขณะนี้มีปัญหาว่าเกิดการแฉลบ ที่ส่งผลต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมีเค้าลางเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประชามติที่มีความเห็นต่าง ซึ่งเดิมตามร่างของพรรคภูมิใจไทยใช้เสียงชั้นครึ่งคือ โดยต้องมีเกณฑ์ผู้มาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง และต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่าเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีส ทธิ์ ได้มีการพูดคุยและปรับแก้เหลือ 1ใน 4 แต่ตอนหลังมีการแก้ไขตอนแก้ เป็นรายมาตราก็ต้องทำประชามติหมดจึงเป็นเหตุให้วุฒิสภาเอามาอ้าง และปรับแก้ไปป็นแบบ Double majority หรือทำประชามติแบบ 2 ชั้น
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังไม่สิ้นหวัง หากดูตามไทม์ไลน์แล้ว วุฒิสภาไม่ได้ดึงเรื่องเพราะส่งกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยจะมีการพิจารณากัน ในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ และเชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎร ต้องไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ วุฒิสภาและต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา จึงยังมีโอกาส โดยในวันที่ 23 ตุลาคมนี้ คณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาจะต้องตัดสินใจให้ได้ ว่าจะตกลงกันอย่างไร โดย หากวันที่ 27 ตุลาคม วุฒิสภายืนยันและวันที่ 30 ตุลาคม เป็นวันสุดท้ายของสภา หากเห็นตรงกัน ก็สามารถส่งให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ เชื่อว่าน่าจะทัน สามารถทำประชามติรอบแรกพ่วงกับการ เลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ
นายนิกร กล่าวว่า ขณะนี้รู้สึกเป็นกังวลว่า ปมการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประชามติ จะเลยเถิด เพราะตามอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร สามารถยืนยันร่างแก้ไขของสภาฯ ได้เลย โดยข้ามวุฒิสภา แล้วรอไว้ 6 เดือน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีสามารถกำหนดเรื่องการทำประชามติ โดยทำแบบชั้นเดียวได้เลย ซึ่งเชื่อว่าผ่านแน่นอน แต่จะต้องเสียงบประมาณ 3,500 ล้านบาท เพราะไม่ทันพ่วงกับการตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเมื่อกลับมาสภาแล้วต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น โอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุน 1 ใน 3 หรือ 67 เสียงจากวุฒิสภา คงเป็นไปได้ยาก ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกิดขึ้นไม่ได้เลย แม้กระทั่งรายมาตรา หากสภาหันหลังให้วุฒิสภาเช่นนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาลุกลาม เพราะกฎหมายทุกฉบับจะต้องผ่านวุฒิสภา ดังนั้นไม่ควรมีปัญหากันและต้องร่วมกันทำงาน
ส่วนที่พรรคภูมิใจไทยระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนนั้น นายนิกรกล่าวว่าถึงแม้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแต่ก็ไม่มีเหตุที่จะมาดึงให้เกิดปัญหาตรงนี้ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายฉบับหนึ่งว่าควรจะเป็นอย่างไร และไม่ควรพูดว่าพรรคภูมิใจไทยเกี่ยวข้องกับวุฒิอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเพียงแค่อาจจะรู้จักกันซึ่งมองกันได้ แต่พูดไม่ได้ เห็นว่าเรื่องนี้อย่าไปคิดว่าใครจะได้อะไร อยากให้คิดมุมกลับว่าที่เสียแน่ๆคือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนจะเสีย จึงอยากถามว่าหากเกิดปัญหาเช่นนี้ใครจะรับผิดชอบ
“ถ้ายังมีเวลา ผมก็หวังอยู่นั่นแหละ หวังมาตลอด 20 กว่าปีแล้วไม่ถอยหรอก ดังนั้นตราบใดจนจบก็หวังต่อไป 180 วันก็ 180 วันหากสามารถดีกันได้ก็หวังต่อไป มันต้องมาร่วมกันทั้ง 2 สภา ต้องยอมถอย ไม่ว่าต่างคนต่างยืนมันจะไม่ได้อะไรเลย และไม่ใช่พรรคไหนเสียหรือใครเสีย แต่ประชาชนจะเสียโอกาส และจุดยืนของพรรค เราอยากได้รัฐธรรมนูญยกร่างใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้วเพราะเราทำรัฐธรรมนูญปี 40 มา แต่ของพรรคไม่มีมาตราเหมือนสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา คือไม่มีมาตราเราจะไปคิดแทนประชาชนได้อย่างไร เราต้องการรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนและแก้ไขได้บ้าง ไม่ใช่แก้ไขไม่ได้เลย เราต้องการสสร.มายกร่าง เพราะจะลดความขัดแย้ง ว่ารัฐธรรมนูญนี้มาจากทหาร ความขัดแย้งจะได้จบ” นายนิกร กล่าว.-312.-สำนักข่าวไทย