ทำเนียบฯ 5 ก.ย. – ครม.เห็นชอบอนุสัญญาภาษีซ้อนไทย-กัมพูชา รองรับนายกรัฐมนตรีเยือนกัมพูชาปลายสัปดาห์นี้
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบร่างความตกลงการยกเว้นจัดเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีระหว่างไทย-กัมพูชา หลังจากที่ผ่านมาไทยทำสัญญาข้อตกลงยกเว้นภาษีซ้อน 8 ประเทศ ยกเว้น กัมพูชาและบรูไน ครั้งนี้จึงต้องทำข้อตกลงกัมพูชาและอยู่ระหว่างเจรจากับบรูไนให้บรรลุกข้อตกลง เพื่อดำเนินการให้ครบ 10 ประเทศ ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี
ทั้งนี้ เพื่อบังคับใช้กับประชาชน นักลงทุนที่อาศัยในประเทศไทยและกัมพูชา ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน หากนักลงทุนไทยเข้ามาในกัมพูชาแล้วนำภาระภาษีดังกล่าวมาหักออกจากการเสียภาษีในประเทศไทยได้ เนื่องจากปลายสัปดาห์หนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เพื่อหารือการค้าและการลงทุนหลายเรื่อง เนื่องจากกัมพูชาเป็นประเทศสำคัญที่นักลงทุนไทยต้องการไปขยายการลงทุนจำนวนมาก เพราะผ่อนปรนเงื่อนไขหลายด้าน ทั้งสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่จำเป็นต้องให้กัมพูชาถือหุ้นใหญ่เมื่อเข้าไปขยายการลงทุน และให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจำนวนมาก การนำเงินทุนผ่านเข้าออก สะดวกสบาย ทำให้นักธุรกิจไทยขยายการลงทุนทั้งสถานีบริการน้ำมัน โรงแรม ท่าเรือ อุตสหากรรมสิ่งทอ ร้านอาหาร ข้อตกลงเรื่องภาษีซ้อนจึงส่งเสริมบรรยากาศทางการค้า และการลงทุนให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจ ป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศและตรวจสอบธุรกรรมที่เข้าข่ายการหลบเลี่ยงหรือเลี่ยงภาษี ระหว่างสองประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับสาระสำคัญภาษีซ้อน ประกอบด้วย ประเทศคู่สัญญายินยอมให้นักลงทุนไทยเมื่อออกไปลงทุนในกัมพูชานำภาระภาษีเสียไว้แล้วมาหักออกจากภาษีต้องชำระในประเทศไทย ได้ตามจำนวนจ่ายจริงที่ชำระแล้ว แต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีคำนวณได้ในประเทศของตนเอง รวมทั้งนำมาตรการส่งเสริมการลงทุน หักลดหย่อนภาษีได้ เช่น ได้รับบีโอไอในกัมพูชา วงเงิน 9 ล้านบาท ต้องจ่ายเงินอีก 1 ล้านบาท นักธุรกิจไทย สามารถนำาภาระภาษี มาหักลบในประเทศไทยได้ทั้งหมด 10 ล้านบาท มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ความตกลงมีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ ยังอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งสินค้าทางเครื่องบิน การขนส่งทางเรือและทางบก รวมรถไฟให้จัดเก็บภาษีตามกฎหมายแต่ละประเทศ โดยลดภาษีให้ครึ่งหนึ่งด้วยการจัดเก็บต้นทาง ประเทศปลายทางขนสินค้าลงไม่ต้องเก็บภาษี ส่วนกรณีเงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าสิทธิ และค่าธรรมเนียมการบริหารการทางเทคนิค กำหนดอัตราภาษีในประเทศผู้จ่ายเงินได้ แต่ไม่เกินกว่าอัตราภาษีตามที่ความตกลงกำหนดไว้กรณีค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ของสถานประกอบการถาวร และหุ้นที่มีทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ให้มีสิทธิเก็บภาษีได้ภายในประเทศ.-สำนักข่าวไทย