รัฐสภา 25 ก.ค. – “ชัยธวัช” เผย กมธ.นิรโทษกรรม เสียงแตกปม ม.112 บางส่วนเสนอต้องมีเงื่อนไข หวังสภาฯ รับฟังอย่างมีวุฒิภาวะ ไร้ความขัดแย้ง
นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยพรุ่งนี้ (26 ก.ค.67) จะมีการสรุปรายงานอย่างเป็นทางการ เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้เร็วที่สุด
สำหรับสาระสำคัญคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้คงไม่สามารถออกเป็นกฎหมายเหมือนในอดีตที่มีการกำหนดฐานความผิดโดยเฉพาะ หรือจะนิรโทษกรรมคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเกือบ 20 ปี มีหลากหลายฐานความผิด และหลากหลายเหตุการณ์
ดังนั้น จึงต้องตรากฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากที่สุด คือการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรม ว่ามีคดีใดบ้างที่ควรจะได้รับการนิรโทษกรรม พร้อมกับนิยามว่าคดีการกระทำผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง หมายถึงการกระทำที่มีฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง หรือช่วงที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน
ส่วนการนิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จากพรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 แต่ยังมีความเห็นต่างกันอยู่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงได้มีการรวมความคิดทุกรูปแบบ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอย่างรอบด้านแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
1.ไม่เห็นด้วยกับการที่นิรโทษกรรมมาตรา 112
2.เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมมาตรา 112 เหมือนกับฐานความผิดอื่นๆ
3.เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมมาตรา 112 แต่เป็นการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข
นายชัยธวัช ยอมรับว่า ในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีความกังวลหลายอย่าง หากมีการนิรโทษกรรมคดี 112 จะเกิดปัญหาการแสดงออกอย่างที่เคยเกิดขึ้น แล้วนำไปสู่การดำเนินคดี ซึ่งมีข้อเสนอว่าควรมีกำหนดมีเงื่อนไขผ่าน 2 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.เสนอให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไข เพื่อเข้าสู่การพิจารณานิรโทษกรรม 2.ควรจะมีมาตรการในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ
ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือผู้กระทำผิดต้องมาแถลงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุ และแรงจูงใจในการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา พร้อมทั้งมีกระบวนการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดการสานเสวนาระหว่างผู้กระทำผิดและผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด กับคู่ขัดแย้งและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงกัน ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขในการกระทำความผิดซ้ำในแต่ละคดีจะไม่เหมือนกัน แล้วแต่พฤติการณ์แต่ละคดี
ประเด็นสำคัญคือระหว่างที่คดีนั้นยังอยู่ในกระบวนการพิจารณานิรโทษกรรม มีข้อเสนอว่าควรจะมีมาตรการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้น เช่น การชะลอฟ้อง การให้สิทธิประกันตัว หรือการจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากคดีที่มีเงื่อนไขเช่นนี้อาจจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณามากกว่าคดีอื่น
สำหรับมาตรการป้องกันกระทำผิดซ้ำ อาจมีมาตรการอื่นหลังได้รับนิรโทษกรรมไปแล้ว เช่น การละเมิดเงื่อนไขอาจจะต้องเสียสิทธิในการนิรโทษกรรม มาตรการการรายงานตัวเป็นระยะ หรือกระบวนการสร้างความปรองดอง เป็นต้น นอกจากนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ บางส่วนยังมีข้อเสนอไม่ให้นิรโทษกรรมทันที แต่อาจให้มีการสานเสวนาแล้วค่อยพิจารณานิรโทษกรรม
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นร่วมกันว่าคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม และเมื่อรายงานเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แล้ว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรจะรีบพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาล และระหว่างที่กฎหมายยังตราไม่แล้วเสร็จก็ควรมีการอำนวยความยุติธรรมด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รายงานฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาของสภาฯ แล้ว จะจัดส่งรายงานไปยัง ครม. และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม โดยจะขอให้ส่งรายงานกลับมาที่สภาฯ ภายใน 60 วัน ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอ
ขณะที่ความเห็นของหลายพรรคการเมืองยังแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมในคดี 112 พรรคก้าวไกลไม่ได้ไม่ได้มีการจัดทัพขนาดนั้น แม้เราจะมีความเห็นแบบหนึ่ง แต่เราก็รับฟังและพยายามเข้าใจความเห็นของฝ่ายที่มีข้อกังวลในประเด็นนี้ แม้กระทั่งการทำงานในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่เราก็รับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน พยายามหาข้อเสนอที่จะเป็นที่ยอมรับได้มากที่สุด ยกตัวอย่างข้อเสนอนิรโทษกรรมอย่างมีเงื่อนไขก็เป็นความพยายามที่จะเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยในรายงานที่จะเข้าสู่สภาฯ จะมีความเห็นของทุกฝ่าย
“หวังว่าบรรยากาศในสภาฯ คงไม่ใช่บรรยากาศแห่งความขัดแย้ง แต่เป็นบรรยากาศที่พยายามรับฟังซึ่งกันและกัน พิจารณาทุกเรื่องอย่างรอบด้านอย่างดีที่สุดและมีวุฒิภาวะ หากในสภาฯ บรรยากาศยังไม่ปรองดอง ไม่เปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน การออกกฎหมาย เพื่อมีเป้าหมายในการลดความขัดแย้งทางการเมืองคงไม่บรรลุ” นายชัยธวัช กล่าว.-317-สำนักข่าวไทย